วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

หลักกลยุทธ์ซุนวู 11 + 12



บทที่ ๑๐ ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะของภูมิประเทศมี ๖ ลักษณะด้วยกัน คือ พื้นที่ที่ทั้งสองฝ่ายเดินทางได้สะดวก

พื้นที่ที่เข้าไปแล้วออกมายาก

พื้นที่ที่ทั้งสองฝ่ายเข้ารบกันไม่สะดวก

พื้นที่ที่เป็นจุดคับแคบ

พื้นที่อันตราย

และพื้นที่ที่มีระยะทางไกล


       พื้นที่ที่ทั้งสองฝ่ายเดินทางได้สะดวก คือพื้นที่ที่ฝ่ายเราเข้าได้ ฝ่ายข้าศึกก็เข้าได้ ในพื้นที่นี้ฝ่ายไหนเข้าพื้นที่ก่อนได้เปรียบ ควรยึดทำเลที่สูงที่สามารถมองภาพรวมได้กว้างไกล และมีทางส่งกำลังสนับสนุนได้อย่างสะดวก

       พื้นที่ที่เข้าไปแล้วออกมายาก คือพื้นที่ที่บุกเข้าไปได้ง่ายดาย แต่เวลาถอยกลับออกมานั้นยากเย็น ถ้าข้าศึกไม่ได้เตรียมการป้องกันไว้แล้วกองทัพบุกเข้าโจมตีก็สามารถเอาชนะได้ไม่ยากเย็น แต่ถ้าข้าศึกป้องกันตนเองอย่างดี การที่จะเอาชนะนั้นก็ยาก ซ้ำยังเป็นการถอยออกมายากด้วย ความเสียเปรียบก็จะตกอยู่กับฝ่ายเรา

      พื้นที่ที่ทั้งสองฝ่ายเข้ารบกันไม่สะดวก คือพื้นที่ที่เข้าไปแล้วมีความเสียเปรียบกันทั้งสองฝ่าย รบกันลำบาก ถ้าตกอยู่ในพื้นที่แบบนี้อย่ารบในที่นั้น แม้ว่าข้าศึกจะออกมาหลอกล่อให้สู้รบด้วย ก็อย่าหลงกล ควรที่จะหลอกล่อข้าศึกแล้วทำทีแพ้และแสร้งล่าถอย หลอกข้าศึกตามมาแล้วจึงเข้าตีเป็นเช่นนี้จึงจะได้เปรียบ

      พื้นที่ที่เป็นจุดคับแคบ คือพื้นที่ที่มีลักษณะเหมือนคอขวด สามารถทำให้กองทัพฝ่ายเราหรือฝ่ายข้าศึกต้องทยอยกันเข้าไปไม่สามารถยกเข้าไปเป็นกองทัพได้ ถ้าเรายึดพื้นที่นี้ได้ก่อน และทำการป้องกันปากทางเข้าได้ แม้จะมีกำลังทหารน้อยเราก็มีความได้เปรียบ เพราะข้าศึกจะ เข้ามาได้ทีละน้อย แต่ถ้ากองทัพข้าศึกเข้ายึดพื้นที่นี้ได้ก่อน อย่าบุ่มบ่ามเข้าไป ทำการตรวจลาดตระเวนความเป็นไป ถ้าหากปากทางไม่ได้ป้องกันไว้ก็สามารถทำการรบจู่โจมได้

       พื้นที่อันตราย ต้องรีบเข้ายึดพื้นที่นี้ก่อนข้าศึก และให้เลือกตั้งกองกำลังในที่สูงมองเห็นได้ชัดเจนกว้างไกล รอคอยข้าศึกมาและเข้าโจมตีจะมีความได้เปรียบมาก แต่ถ้าหากข้าศึกยึดพื้นที่ได้ก่อนอย่าได้เข้าไปใกล้พื้นที่นี้เด็ดขาด ให้รีบถอยออกมา

      พื้นที่ที่มีระยะทางไกล คือระยะทางในการรบของทัพเรากับฝ่ายข้าศึกห่างไกลกันมาก แม้ว่าข้าศึก และเรามีกำลังพอกันก็ไม่ควรรบ หรือฝืนรบด้วยเพราะจะมีความเสียเปรียบในระยะทาง ความล้าในการเดินทาง และเรื่องการส่งกำลัง เสบียง จึงไม่มีประโยชน์ในการรบ

นี้คือพื้นที่ทั้ง ๖ ลักษณะ เป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ในการรบ เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบที่สำคัญของแม่ทัพที่จะวิเคราะห์เพื่อชัยชนะแห่งกองทัพ

ลักษณะภูมิประเทศเหล่านี้เป็นเพียงสิ่งสนับสนุนทางด้านการรบเท่านั้น หากแต่อยู่ที่ตัวผู้นำทัพที่ฉลาด มีการวิเคราะห์วางแผนเพื่อชัยชนะ สำรวจดูภูมิประเทศก่อนว่าสมควรหรือไม่ อันตรายหรือไม่ และคำนึงถึงสภาพการเดินทัพว่าห่างไกลเพียงใด ผู้นำเท่านั้นที่จะคิดสภาพการณ์ เข้าใจในเหตุแลผลเหล่านี้ให้ได้ ทั้งหมดจึงอยู่ที่ผู้นำทัพที่จะบังคับบัญชาการสู้รบ

ถ้าหากว่าผู้นำทัพสามารถพินิจพิเคราะห์ด้วยเหตุและผลทางยุทธศาสตร์แล้ว คิดว่าสมควรที่จะทำการรบ แม้ว่าผู้ปกครองสูงสุดของประเทศจะสั่งห้ามรบ ผู้นำทัพก็สามารถตัดสินใจเด็ดขาดสั่งการรบได้ แต่หากพินิจพิเคราะห์ด้วยหลักแห่งยุทธศาสตร์แล้วว่าไม่สมควรรบ แม้ว่าผู้ปกครองสูงสุดของประเทศจะสั่งให้รบ แม่ทัพก็อาจตัดสินใจที่จะไม่เข้ารบก็ได้

ผู้นำทัพต้องไม่มุ่งหวังในเกียรติยศชื่อเสียง ไม่กลัวต่อสิ่งที่ไม่ถูกต้องใด ๆ มีจุดมุ่งหมายสูงสุดอยู่ที่เชิดชูคุณธรรม ปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน ผู้นำทัพเช่นนี้แหละที่ประเทศชาติต้องการ และถือเป็นสมบัติอันล้ำค่าของบ้านของเมือง


ความพ่ายแพ้ในการสู้รบนั้นมีอยู่ ๖ ข้อ 

๑. ความมุทะลุบ้าบิ่นแบบไม่มีความคิดของผู้นำ และทหาร เมื่อเรามีกำลังรบมากพอ ๆ กับฝ่ายข้าศึก แต่ไม่ใช้กำลังที่มีไปต่อสู้กัน ประมาทต่อข้าศึก และใช้กำลังเพียงยิบมือเข้าต่อสู้

๒. ความหย่อนยานต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย แม้กองทัพมีอาวุธดี พร้อมกับมีการฝึกทหารมาอย่างดี แต่นายทหารผู้บังคับบัญชาหย่อนยานไม่มีความสามารถต่อหน้าที่ที่จะบัญชาผู้อื่น

๓. ความอ่อนแอของกองทัพ แม้ว่าจะมีแม่ทัพที่เก่ง แต่ทหารที่จะสู้รบมีความอ่อนแอ ทำให้กำลังรบอ่อนแอไปด้วย

๔. การขัดคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เมื่อมีความขัดแย้งกันของนายทหารที่บัญชาการ ไม่ยอมทำตามแผนที่ได้วางไว้ ไม่มีความสามัคคี ทำอะไรโดยพลการ ผู้เป็นแม่ทัพใหญ่ก็ไม่สามารถควบคุมได้

๕. การขาดวินัย ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ แม่ทัพที่อ่อนแอ ปกครองทหารไม่ได้ ไม่เด็ดขาด และฝึกทหารไม่ดี ทหารขัดแย้งกันเอง ความเป็นระเบียบก็หมดไป

๖. การวางแผน และคาดการณ์ที่ผิดพลาด ไม่วางคนตามตำแหน่ง ตามความรู้ความสามารถ อ่านแผนการรบไม่ขาด  เป็นความเสียหายที่ใหญ่หลวง

ทั้ง ๖ ประการนี้เป็นสาเหตุแห่งความพ่ายแพ้ เมื่อเกิดขึ้นอย่าได้ไปโทษ ดิน ฟ้า อากาศ หากเป็นความผิดพลาดของทหารโดยเฉพาะผู้ที่เป็นผู้นำทัพ
               
      ถ้าแม่ทัพรู้แต่ว่าตนมีกำลังที่จะโจมตีข้าศึกได้ แต่ไม่รู้ว่าข้าศึกมีกำลังมากไม่สามารถเข้ารบได้ ความหวังที่จะชนะมีเพียงครึ่งหนึ่ง และถ้ารู้แต่ว่า ข้าศึกมีกำลังไม่มากสามารถเข้าตีได้ แต่ไม่รู้ว่าฝ่ายตนก็มีกำลังไม่พอที่จะโจมตีข้าศึกได้เช่นกัน ความหวังที่จะรบให้ชนะก็มีเพียงครึ่งเดียว ถ้ารู้ว่าข้าศึกมีกำลังไม่มากสามารถเข้าทำการรบได้ และฝ่ายตนมีกำลังพอที่จะทำการรบด้วย แต่ไม่รู้ว่าฝ่ายตนอยู่ในภูมิประเทศที่เสียเปรียบ ความหวังที่จะชนะก็มีเพียงครึ่งเดียว ดังนั้น ผู้ที่รู้หลักสงคราม ย่อมคิดการณ์ไม่พลาด และสามารถพลิกแพลงกลยุทธได้เป็นร้อยเป็นพันวิธีโดยไม่มีทางที่จะหมดหนทาง กล่าวได้ว่ารู้เขารู้เรา สามารถชนะศึกได้โดยไม่มีอันตราย และยิ่งรู้สภาพดิน ฟ้า อากาศ สภาพภูมิประเทศด้วยแล้ว ชัยชนะย่อมเกิดขึ้น




บทที่ ๑๑ พื้นที่ ๙ ลักษณะ

พื้นที่ยุทธศาสตร์แบ่งพื้นที่ได้เป็น ๙ ลักษณะ

พื้นที่ทำลายขวัญ

พื้นที่แนวหน้า 

พื้นที่ที่ได้เปรียบ

พื้นที่เข้า-ออกสบาย 

พื้นที่น้ำมิตร

พื้นที่ล่อแหลม

พื้นที่วิบาก 

พื้นที่คอขวด 

และพื้นที่ความตาย

       พื้นที่ทำลายขวัญ คือ เมื่อกองทัพข้าศึกมารบในดินแดนเรา หรือเข้ามารบในพื้นที่ที่เราคาดไม่ถึง และทหารฝ่ายเราเกิดขวัญหนีดีฝ่อ ขวัญกองทัพก็จะไม่มี กำลังใจสู้รบก็จะถดถอย ถ้าอยู่ในพื้นที่นี้ไม่ควรที่จะรบ ถ้ารบก็ให้แตกหักโดยเร็ว เพราะขวัญกำลังใจกองทัพยังไม่พร้อม

      พื้นที่แนวหน้า คือ แนวรบด้านหน้าที่ทัพเราเข้าทำการรบกับข้าศึก ถ้าตกอยู่ในพื้นที่ตรงนี้อย่าได้หยุดทัพโดยไม่มีความจำเป็น ควรมุ่งหน้าเดินทัพต่อไป

       พื้นที่ที่ได้เปรียบ คือ พื้นที่ที่ฝ่ายเรามีความได้เปรียบทางยุทธภูมิ การรบก็เกิดการได้เปรียบขึ้น ถ้าตกอยู่ในพื้นที่นี้ต้องรีบเข้าชิงพื้นที่ หากว่าข้าศึกยึดได้ก่อนก็อย่าวู่วามบุกเข้าตี

       พื้นที่เข้า-ออกสบาย คือ พื้นที่ที่ทั้งฝ่ายเรา ฝ่ายข้าศึกเข้าออกได้อย่างสะดวกสบาย ง่ายดาย ถ้าอยู่ในพื้นที่นี้ ต้องยึดไว้ และวางกำลังทหารตลอดแนวต่อเนื่องกัน อย่าให้ขาดการติดต่อทั้งกองทัพ

       พื้นที่น้ำมิตร คือ พื้นที่ที่ฝ่ายใดบุกถึงก่อน และมีสัมพันธไมตรีกับประเทศรอบด้าน ประเทศทั้งหลายก็ให้การช่วยเหลือ ถ้าอยู่ในพื้นที่ตรงนี้ให้เจริญสัมพันธไมตรีรอบด้าน และดึงเข้ามาเป็นพวกเพื่อการสนับสนุนด้านการรบ

       พื้นที่ล่อแหลม คือพื้นที่ที่ข้าศึกได้บุกเข้ามา และยึดพื้นที่นั้นได้แล้ว พื้นที่ส่วนนั้นก็จะอยู่ในกำมือข้าศึกอย่างไม่รู้ชะตากรรมว่าจะเป็นหรือตาย ถ้าตกอยู่ในพื้นที่นี้ต้องเตรียมรบแบบกองโจร คอยปล้นสะดม และตุนเสบียงเอาไว้

       พื้นที่วิบาก คือ พื้นที่ที่มีสิ่งกีดขวางทางธรรมชาติในการเดินทัพ เช่น ป่าเขา แม่น้ำ ห้วยหนอง คลอง บึง ถ้าตกอยู่ในพื้นที่ตรงนี้ให้รีบเคลื่อนทัพออกห่างจากพื้นที่นั้นโดยเร็ว

       พื้นที่คอขวด คือ พื้นที่ที่ปากทางแคบการเดินทัพต้องทยอยเดินผ่าน เมื่อข้าศึกจู่โจมก็สามารถนำกำลังน้อยเข้ารบ และชนะกำลังมากอย่างง่ายดาย ถ้าตกอยู่ในพื้นที่ตรงนี้ทางแก้ต้องรีบวางแผนที่จะตีฝ่าออกไปให้ได้

       พื้นที่ความตาย คือ พื้นที่ที่ต้องรบชนะให้เร็วไม่เช่นนั้น ก็จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ถ้าตกอยู่ในพื้นที่นี้ต้องสู้ตายเพื่อความอยู่รอด

ผู้เชี่ยวชาญในการรบ ย่อมสามารถทำให้ข้าศึก

-          กองกำลังข้าศึกทั้งแนวหน้า และกองหนุนไม่สามารถเข้าช่วยเหลือกันได้ทัน ต้องคอยห่วงหน้าพะวงหลัง


-          หน่วยหลักกับหน่วยย่อยต่างคนต่างรบกันอย่างชุลมุน


-          เกิดความระส่ำระสายในกองทัพทั้งแม่ทัพ และทหาร


-          หน่วยเหนือ และหน่วยขึ้นตรงขาดการติดต่อกัน

-          ทหารข้าศึกมีความสับสนวุ่นวายไม่เป็นระเบียบ

ฯลฯ

      ผู้ที่เชี่ยวชาญในการรบ ที่สามารถทำได้อย่างนี้ และมองว่าทัพฝ่ายเราได้เปรียบ ก็ให้บุกเข้าโจมตี แต่ถ้าดูรูปการแล้ว ไม่ได้เปรียบ ก็อย่าได้เข้าโจมตี


      จะทำอย่างไร ถ้าข้าศึกมีความพรั่งพร้อมทุกอย่างทั้งกำลัง และสรรพาวุธที่กำลังจะบุกโจมตีเรา

      คำตอบก็คือจงตั้งสติ อย่าประมาท และวางแผนที่โจมตีข้าศึกในส่วนที่ข้าศึกมีความหวงแหน (กล่องดวงใจ) แล้วข้าศึกก็จะยินยอมทำตามทุกอย่างโดยไม่มีทางขัดขืน


หลักสำคัญในการทำสงคราม และเป็นหลักที่ผู้นำทัพต้องยึดถือ

       ความรวดเร็ว ทำอะไรต้องทำอย่างรวดเร็ว รอบคอบ

       ช่วงชิง ความได้เปรียบจากการที่ข้าศึกไม่ได้เตรียมตัว  

       ทำสิ่งไม่คาดฝัน ทำในสิ่งที่ข้าศึกคาดคิดไม่ถึง

       เข้าตีเมื่อประมาท ช่วงที่ข้าศึกมีความประมาทไม่ระมัดระวังตัว

      หลักสำคัญเมื่อรุกเข้าไปสู่ดินแดนข้าศึก ก็คือการสามัคคี รวมพลังกันอย่างแน่นหนา แล้วจะไม่มีใครต้านได้

      วางแผนในการรู้จักใช้พื้นที่ด้วยความเหมาะสมตามยุทธศาสตร์ พร้อมกับมีกองกำลังที่ปรับตัวได้ตามพื้นที่ที่เข้ารบ จะสร้างความได้เปรียบให้กองทัพ และสร้างความกล้าหาญให้เหล่าทหาร นั่นคือจุดมุ่งหมายในการบริหารกองทัพ

      ผู้นำทัพที่ดีต้อง สงบสุขุม เยือกเย็น ไม่หวั่นไหว ไม่ลำเอียง สามารถควบคุมสติตัวเองได้ สามารถเปลี่ยนแผน และพลิกแพลงกลยุทธได้ โดยข้าศึกไม่สามารถคาดเดาว่ากำลังทำอะไรอยู่ เป็นศูนย์รวมขวัญกำลังใจของเหล่าทหาร และพร้อมต่อสู้ทุ่มเทในสภาวะที่ดูเหมือนหมดสิ้นหนทาง นี้ก็คือ หน้าที่ของผู้เป็นแม่ทัพ

      พื้นฐานในการปฏิบัติการทางทหาร อยู่ที่สามารถปรับตัวเองให้สอดคล้องกับสภาวะ สถานการณ์ และเปลี่ยนไปตามแผนของข้าศึก

      ศึกษาติดตามสถานการณ์ความเป็นไปของข้าศึก เพื่อที่จะนำมาปรับใช้กับแผนของกองทัพฝ่ายเรา
        





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น