วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2561

หลักกลยุทธ์ซุนวู 7 + 8


บทที่ ๖ การรู้ตื้นลึกหนาบาง

ทัพฝ่ายไหนเดินทัพมาถึงสมรภูมิก่อนได้เปรียบ ฝ่ายนั้นไม่อิดโรย

       ทัพฝ่ายไหนถึงทีหลัง ต้องเตรียมการรบอย่างฉุกละหุก ฝ่ายนั้นเหนื่อยล้า

       กองทัพที่ชำนาญการศึก ย่อมเป็นฝ่ายบงการศึก ไม่ยอมให้ข้าศึกมาบงการตน

       จะหลอกล่อข้าศึกให้เข้าในพื้นที่ที่เรากำหนด ก็ให้หลอกล่อให้ข้าศึกเกิดความโลภ จะสกัดกั้นไม่ให้ข้าศึกเข้ามาในพื้นที่ที่ไม่ต้องการให้เข้า ก็จงทำลายสิ่งที่ทำให้โลภนั้นเสีย

      ถึงแม้ว่าข้าศึกจะมีความกระฉับกระเฉง ก็สามารถทำให้ข้าศึกมีความอิดโรยได้ แม้นข้าศึกอิ่ม ก็ทำให้ข้าศึกนั้นหิวได้ แม้นข้าศึกตั้งมั่นในฐานที่มั่น ก็ทำให้ข้าศึกสามารถย้ายกองทัพได้

      ก็เป็นเพราะว่าเราเข้าโจมตีในส่วนที่มีความสำคัญของข้าศึก จงทำให้ข้าศึกเกิดความสับสนอลหม่าน และเข้าตีในส่วนที่ข้าศึกนึกไม่ถึง

      กองทัพเดินทางไกล โดยไม่อ่อนล้า ก็เพราะเดินทัพในเส้นทางที่ปลอดศัตรู เวลาเข้าโจมตีต้องโจมตีในส่วนที่ข้าศึกไม่สามารถป้องกันได้ ถึงคราวตั้งรับก็ตั้งรับอย่างมั่นคง เพราะต้องตั้งรับในส่วนที่รู้ว่าข้าศึกต้องโจมตีเราแน่ ๆ

      ทหารที่สันทัดในการบุกโจมตี ก็ให้เข้าโจมตีในส่วนที่ข้าศึกขาดการป้องกัน

      ทหารที่สันทัดในการตั้งรับ ก็จงป้องกันพื้นที่ที่ข้าศึกจะไม่เข้าตี

      ดังนั้น ผู้ที่ชำนาญการโจมตี ข้าศึกจะไม่รู้ว่าควรป้องกันที่ใด

      ส่วนผู้ที่ชำนาญในการตั้งรับ ข้าศึกก็จะไม่รู้ว่าจะเข้าตีที่ใด

      ทหารที่บุกโจมตีข้าศึกโดยข้าศึกไม่อาจตั้งรับได้ ก็เพราะเข้าโจมตีจุดอ่อนของข้าศึก

      ส่วนทหารที่จำเป็นต้องถอยทัพโดยศัตรูตามไม่ได้ จะกระทำอย่างรวดเร็วจนไม่มีใครไล่ตามทัน เปรียบเหมือนไป-มาดังลมพัด

      ดังนั้น ถ้าเราต้องการรบ ก็รบ ถึงแม้ว่าข้าศึกจะสร้างป้อมปราการไว้สูง และแข็งแกร่งเท่าใด ก็ต้องจำเป็นที่จะต้องทิ้งค่ายออกมารบอยู่ดี เพราะเราจะโจมตีในส่วนที่ข้าศึกจำเป็นต้องกอบกู้

      หากฝ่ายเราไม่ต้องการรบ ข้าศึกก็จะไม่มารบด้วย ก็เพราะว่าเราจะเปลี่ยนเป้าการโจมตีของข้าศึก ข้าศึกก็จะรีบไปป้องกันที่จุดนั้น

      ดังนั้นเราจะสามารถกำหนดรูปแบบของข้าศึกได้ แต่เราต้องไม่มีรูปแบบที่แน่นอน (ไร้กระบวนทัพ เพื่อไม่ให้ข้าศึกจับทางได้) เมื่อเราไม่มีรูปแบบที่แน่นอน เราจึงสามารถรวมกำลังของเรา แบ่งแยกกำลังข้าศึกได้ เราสามารถรวมกันเป็นหนึ่ง แต่ข้าศึกแตกแยกกันเป็นสิบ จึงเปรียบได้ว่าเราใช้หนึ่งโจมตีสิบ

      สถานการณ์นี้เราจะมีกำลังมากเข้าตีข้าศึกที่กำลังน้อยกว่าได้ ผู้ชำนาญการสงครามที่ใช้กำลังมากตีกำลังน้อยจะสามารถกำจัดฝ่ายข้าศึกได้

      เราจะรบกับข้าศึก โดยข้าศึกไม่สามารถล่วงรู้ได้ เมื่อไม่รู้ก็ต้องป้องกันไปเกือบทุกแห่ง ทำให้กองกำลังถูกแบ่งออกไป จำนวนพลที่ป้องกันก็จะยิ่งน้อย

      เช่นถ้าข้าศึกป้องกันด้านหน้า กำลังด้านหลังก็เบาบาง เมื่อป้องกันด้านหลัง กำลังด้านหน้าก็เบาบาง เมื่อป้องกันด้านซ้าย กำลังด้านขวาก็เบาบาง มาป้องกันทางขวา กำลังด้านซ้ายก็เบาบาง และเมื่อป้องกันทุกแห่ง กองกำลังแต่ละแห่งก็เบาบาง

      เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าศึกจะอ่อนแอเพราะทำการแบ่งกำลังป้องกันเกือบทุกที่ กองกำลังฝ่ายเราจึงมีกำลังเข้มแข็ง เพราะเราได้ทำการแบ่งกำลังข้าศึก

      ถ้าข้าศึกสามารถคาดเดาเหตุการณ์  เวลา และสถานที่ในการสู้รบได้ล่วงหน้า ถึงแม้ว่าจะอยู่ห่างไกลจากที่ทำการรบ ก็สามารถทำศึกได้

      ถ้าข้าศึกไม่สามารถคาดเดาเหตุการณ์ เวลา และสถานที่ที่จะสู้รบได้ล่วงหน้า เมื่อทำการแบ่งแยกกำลังข้าศึกแล้ว ด้านหน้าก็จะช่วยด้านหลังไม่ได้ ด้านหลังก็จะช่วยด้านหน้าไม่ได้ ปีกขวาก็จะช่วยปีกซ้ายไม่ได้ ปีกซ้ายก็จะช่วยปีกขวาไม่ได้ ยิ่งถ้าอยู่ห่างไกลกัน ข้าศึกจะทำการได้ทันหรือ? แล้วกองทัพที่มีขนาดใหญ่ก็จะมีประโยชน์อะไรล่ะ พูดได้ว่าชัยชนะนั้นเราสามารถสร้างมันขึ้นมาได้ แม้ว่ากองทัพข้าศึกมีกำลังมหาศาลเราก็สามารถทำให้ข้าศึกไม่อาจสู้รบต่อกรกับเราได้

      ดังนั้น เราจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ เพื่อให้รู้ถึงจุดอ่อนจุดแข็งในแผนการ

ต้องกวนข้าศึกให้ปั่นป่วน เพื่อหยั่งเชิงกองทัพข้าศึก

ต้องรู้กฎเกณฑ์ และรูปแบบของข้าศึก เพื่อทราบจุดเป็นจุดตาย

และ ต้องทำการสู้รบดูเพื่อหาจุดอ่อน และจุดแข็งของทั้งสองฝ่าย
     
      สิ่งสำคัญในการวางแผนจัดรูปกระบวนศึก อยู่ที่จะไม่กำหนดรูปร่างให้แน่ชัด เพื่อว่าข้าศึกที่อาจเป็นสายลับแอบแฝงในกองทัพไม่สามารถดูรูปกระบวนศึกออก หรือถึงแม้ว่าข้าศึกจะดูออก แต่ก็ไม่สามารถทำลายแผนนั้นได้

      และเมื่อแผนนี้ใช้สู้รบจนได้รับชัยชนะแล้ว ก็จะไม่ใช้ยุทธวิธีนั้นซ้ำอีก แต่จะวางแผนโดยดูสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไปโดยไม่รู้จักจบสิ้น กล่าวว่าในการทำสงครามจะไม่มีสภาวะใดคงที่





 

 บทที่ ๗ การดำเนินกลยุทธ

อันหลักการทำศึก ศิลปะในการดำเนินกลยุทธนั้นยากที่สุด คือต้องชิงความได้เปรียบ

       ความยากลำบากอยู่ที่ทำเรื่องยุ่งยากให้เป็นเรื่องง่าย ทำทางคดเคี้ยวให้เป็นทางตรง ทำโชคร้ายให้โชคดี แปรความเสียเปรียบต่าง ๆ ให้เป็นความได้เปรียบ

       หากแสร้งเดินทางอ้อม และใช้ผลประโยชน์เล็กน้อยเข้าล่อข้าศึกได้ ก็จะถึงที่หมายได้เร็วกว่าข้าศึก ทั้งที่ออกเดินทางทีหลัง นี้คือรู้จักแปรทางอ้อมให้เป็นทางตรง


       ในการดำเนินกลยุทธจึงมีทั้งข้อได้เปรียบ และข้อเสียเปรียบ กองทัพที่เคลื่อนทัพ เพื่อหาความได้เปรียบ จะไม่มีวันได้รับความได้เปรียบ ถ้ากองทัพทิ้งค่ายเพื่อจะหาความได้เปรียบ สัมภาระก็จะเกิดความเสียหายเนื่องจากต้องทิ้งสัมภาระต่าง ๆ ไว้ สิ่งที่ตามมาก็คือ กองทัพจะสูญเสียยุทโธปกรณ์หนัก เสบียงอาหาร ก็จะไม่มีไปด้วย กองทัพที่ไม่มีสัมภาระเหล่านี้ก็ไม่อาจอยู่รอดได้
     
ผู้ที่ไม่รู้จักสภาพภูมิประเทศ เช่น สภาพในเมือง สภาพป่าเขา หุบเหว ที่ลุ่มดอน ห้วยหนองคลองบึง จะไม่สามารถนำกองทัพให้เดินต่อไป เพราะจะเกิดอันตราย เกิดการสูญเสียได้

จงทำความรู้จัก และตีสนิทกับชนพื้นเมืองที่เดินทัพไปถึง และให้ชนพื้นเมืองเป็นคนนำทาง จะได้เปรียบในเรื่องสภาพภูมิประเทศ

การทำสงครามให้เกิดชัยชนะได้นั้น ก็ต้องอาศัยด้วยเล่ห์กลอุบาย คือให้พิจารณาถึงกองทัพว่าขณะนั้นมีความได้เปรียบหรือไม่ แล้วจึงค่อยกระทำการเปลี่ยนแปลง

ยุทธวิธีการรบด้วยการกระจายทัพ หรือรวมกำลังพล ต้องคิดให้รอบคอบ คิดถึงผลได้ผลเสียให้ถ่องแท้เสียก่อน แล้วค่อยปฏิบัติการ

ในการเดินทัพจะต้องรวดเร็วดุจลมพัด

สามารถหยุดทัพได้สงบนิ่งเหมือนไม้ในพงไพร

เวลาเข้าตี ต้องฮือโหมดุจไฟลาม

คราวตั้งรับ ต้องมั่นคงดุจดั่งขุนเขา

ถ้าหลบซ่อนต้องกำบังกายได้ดั่งเมฆบังพระจันทร์

และเผด็จศึกได้ไวดั่งสายฟ้าฟาด
     
เมื่อทำการยึดเมืองได้สำเร็จ ควรแบ่งสินสงคราม ปูนบำเหน็จให้แก่ทหารหาญทั้งหลาย เมื่อยึดขยายดินแดนต้องแบ่งปันให้แก่แม่ทัพนายกอง นี่คือหลักการดำเนินกลยุทธ

การสื่อสารกันเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการทำศึกสงครามการติดต่อกันระหว่างภายในกองทัพ กับกำลังทหารที่ปฏิบัติการ หรือการสื่อสารกันเองต้องแน่นอนชัดเจน มีสัญลักษณ์ ภาษาต่าง ๆ เป็นที่ทราบกันภายในกองทัพที่ทำการรบ ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อทหารทั้งกองทัพเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว ทำอะไรก็จะช่วยกัน

ในการที่จะทำลายข้าศึก ขวัญและกำลังใจของข้าศึกเป็นสิ่งแรกที่ต้องคำนึง และต้องสั่นคลอนการตัดสินใจของแม่ทัพฝ่ายข้าศึก

กองทัพข้าศึกเมื่อแรกรบนั้น จะมีขวัญกำลังใจดีเยี่ยม แต่พอผ่านไประยะเวลาหนึ่งขวัญ และกำลังใจก็จะเริ่มย่อหย่อน ถดถอยลงเรื่อย ๆ และสุดท้ายก็จะไม่มีขวัญสู้รบเหลืออยู่

ผู้ที่ชำนาญการสงคราม ต้องหลีกเลี่ยงข้าศึกตอนที่มีขวัญ และกำลังใจดี ให้รอจนกว่าขวัญของข้าศึกจะตกต่ำ และหมดไป จึงทำการเข้าตี นี้คือยุทธวิธีควบคุมขวัญทหาร

เราจะใช้ทหารที่มีระเบียบวินัยโจมตีข้าศึกที่แตกแยกสับสนอลหม่าน

เราจะใช้ทหารที่สุขุมเยือกเย็นไปโจมตีข้าศึกที่บุ่มบ่ามวู่วาม

เราจะใช้สมรภูมิใกล้ รับมือข้าศึกที่เดินทางมาไกล 

เราจะใช้ทหารที่พักผ่อนอย่างเต็มที่ ไปรับมือกับทหารที่เหนื่อยล้าอิดโรย

เราจะใช้ทหารที่กินอิ่ม ไปโจมตีทหารที่กำลังหิวโหย
 
เราจะไม่เข้าตีข้าศึกที่ตั้งขบวนทัพ และปักธงทิว ไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย

เราจะไม่โจมตีข้าศึกที่ตั้งค่ายอย่างแน่นหนาดูแล้วน่าเกรงขาม

      หลักการเข้ารบคือ

เราจะไม่โจมตีข้าศึกที่อยู่บนที่สูงกว่า
 
เราจะไม่โจมตีข้าศึกที่หันหลังอิงเนินเขา

เราจะไม่ไล่ตามตีข้าศึกที่แกล้งทำเป็นแพ้ล่าถอย

เราจะไม่โจมตีกำลังที่เข้มแข็งของข้าศึก

เราจะไม่ใส่ใจกองกำลังที่ข้าศึกออกมายั่ว

เราจะไม่สกัดข้าศึกที่กำลังถอนกลับประเทศของตน

การล้อมข้าศึกต้องเปิดช่องว่างไว้ ถ้าข้าศึกถึงคราวจนตรอก อย่ารุกบีบกระชั้นจนเกินไป

วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2561

หลักกลยุทธ์ซุนวู 5+6



บทที่ ๔ ลักษณะการยุทธ

ผู้นำทัพที่ชำนาญในสงคราม ย่อมทำให้ฝ่ายตนตั้งอยู่ในฐานะข้าศึกไม่สามารถเอาชนะได้ จากนั้นก็เพื่อรอจังหวะ และโอกาสทำสงครามเอาชนะข้าศึก

       การที่ข้าศึกไม่อาจเอาชนะเราได้จึงขึ้นอยู่กับฝ่ายเรา และการที่ข้าศึกสามารถเอาชนะเราได้ ก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายข้าศึกเช่นเดียวกัน
     
      ฉะนั้น ไม่แน่นอนเสมอไป ที่ฝ่ายเราตั้งตนอยู่ในฐานะข้าศึกเอาชนะไม่ได้ มันจึงขึ้นอยู่กับทั้งสองฝ่าย อันชัยชนะที่ได้จากสงครามหยั่งรู้กันได้ แต่ไม่อาจสร้างได้เสมอไป

      เมื่อฝ่ายเราไม่สามารถเอาชนะข้าศึกได้ ให้รับมือป้องกัน แล้วรอจนกว่าฝ่ายเราพร้อม จึงเข้าโจมตี

      พึงตั้งรับป้องกัน เมื่อข้าศึกมีกำลังมาก และโจมตีเมื่อข้าศึกมีกำลังไม่พอ

      ผู้นำทัพที่ชำนาญในด้านป้องกัน ประหนึ่งสามารถอำพรางกองทัพให้เร้นลับได้โดยไม่มีใครรู้

      ส่วนผู้นำทัพที่ชำนาญในการบุกโจมตี จะสามารถทุ่มกำลังดังเหมือนสายฟ้าฟาดใส่ข้าศึก

      ผู้ที่สามารถหยั่งรู้ชัยชนะที่ใครต่อใครก็ทราบ ไม่ใช่ผู้สุดยอดในการทำสงคราม

      ผู้ที่ชนะสงครามแล้วถูกยกย่องสรรเสริญ ก็ไม่ใช่ผู้ที่สุดยอดในการทำสงครามเช่นเดียวกัน

ดั่งภาษิตจีนที่กล่าวไว้ว่า

ผู้ที่สามารถยกขนสัตว์ได้ อาจไม่ใช่จอมพลังอย่างแท้จริง
      
       ผู้ที่สามารถมองเห็นเดือน เห็นตะวัน ก็มิใช่ผู้ที่มีดวงตาแจ่มกระจ่างเสมอไป
      
       ผู้ที่ได้ยินเสียงฟ้าร้อง ก็ไม่ใช่ผู้ที่มีประสาทหูดีเสมอไป
 
      ผู้ที่ได้ชื่อว่าสุดยอดแห่งการทำสงครามอย่างแท้จริง มักทำการรบชนะข้าศึกได้ง่าย อย่างธรรมดาที่สุด ไม่มีชื่อเสียงทางด้านสติปัญญา (ไม่สนใจในด้านชื่อเสียงที่ได้รับ) และไม่มีความชอบในทางวีรกรรมที่อาจหาญ (หมายความถึง ไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ จากลาภ ยศ สรรเสริญ) ฉะนั้นผู้นำเหล่านี้จะชนะการรบแน่นอน และไม่เกิดความผันแปรอย่างเด็ดขาด

       เพราะฉะนั้น ผู้ที่ชำนาญการใช้กำลังทหาร จะต้องมีการปรับปรุงกิจการปกครองทหารเสมอ และ ต้องหมั่นศึกษาเงื่อนไขพื้นฐานในการเอาชนะข้าศึก จึงจะเป็นผู้ตัดสินแพ้ชนะได้


เงื่อนไขพื้นฐานมี ๕ ประการ

พื้นที่ ทรัพยากร จำนวนพล กำลังทหาร และชัยชนะ

๑. อาณาเขตที่มีมากทำให้ได้เปรียบในเรื่องของขนาดพื้นที่

๒. ขนาดพื้นมากที่ ก็ทำให้ได้เปรียบในเรื่องทรัพยากร

๓.ทรัพยากรมาก ก็ทำให้ได้เปรียบในเรื่องจำนวนพล

๔.            จำนวนพลมาก ก็ทำให้ได้เปรียบดุลกำลังทางทหาร (ตัวอย่างจีนมีพลเมืองมากทำอะไรส่วนใหญ่มักจะได้เปรียบ)

๕.            ดุลกำลังทางทหารมาก ก็ทำให้ทราบผลในการแพ้ชนะของสงคราม


      ฉะนั้นกองทัพผู้พิชิตจึงเปรียบเสมือนเอาไม้ซุงไปงัดไม้ซีก ส่วนกองทัพที่พ่ายแพ้ก็ไม่ต่างกับเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง


      การทำการสงครามของผู้ชนะ เปรียบได้กับการปล่อยน้ำที่เก็บบนหน้าผาสูง ให้ไหลลงสู่พื้นที่ต่ำ อานุภาพการทำลายมีสูงมาก และนี่คือลักษณะของการยุทธ






บทที่ ๕ อานุภาพของกลยุทธ


สามารถปกครองไพล่พลจำนวนมากได้ ประดุจดั่งปกครองไพร่พลเพียงไม่กี่คน

       สามารถบังคับบัญชากองทัพใหญ่ให้สู้รบได้ ประดุจดั่งบัญชากองทัพขนาดเล็ก

       สามารถรับมือกับข้าศึกได้โดยไม่พ่ายแพ้ โดยใช้กลยุทธในการรบในแบบ และรบนอกแบบ อย่างพลิกแพลง

       และสามารถโจมตีข้าศึกได้ประดุจดังใช้หินกระทบไข่ โดยการหลีกเลี่ยงจุดแข็งตีจุดอ่อนของข้าศึก


      การสู้รบนั้น มักต่อสู้กันซึ่งหน้าด้วยวิธีการรบในแบบ (ซึ่งหน้า ขาวสะอาด ตาต่อตา ฟันต่อฟัน) แต่รู้หรือไม่ส่วนใหญ่มักจะชนะกันในการรบนอกแบบ (การใช้เล่ห์เหลี่ยม)
  
      ผู้ที่ชำนาญในการรบนอกแบบ สามารถพลิกแพลงได้ไม่อับจนหนทาง ประดุจดังฟ้าดินที่ไร้ขอบเขต

      ไม่มีทางที่จะหมดสิ้น ประดุจดังมหาสมุทรที่ไม่มีทางแห้งขอด

      เมื่อจบแล้วสามารถเริ่มใหม่ ประดุจดังดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ตกแล้วขึ้น ขึ้นแล้วตก

      ตายแล้วก็สามารถฟื้นคืนใหม่ ประดุจดังฤดูกาลที่หมุนเวียนกันไป
     
      เสียง (ตามปรัชญาเบญจธาตุ) มีเพียงห้า แต่การผันแปรของเสียงนั้น มีมากจนเราไม่อาจฟังได้หมด

      สี (ตามปรัชญาเบญจธาตุ) มีเพียงห้า แต่การเปลี่ยนแปลงของสีนั้น มีมากจนเราไม่อาจดูได้หมด

      และรส (ตามปรัชญาเบญจธาตุ) มีเพียงห้า แต่การผสมของรสนั้น มีมากจนไม่อาจลิ้มชิมได้หมด

      กลยุทธก็เหมือนกัน แม้มีเพียงการรบนอกแบบ และรบในแบบ แต่กลยุทธทั้งสอง มีการแปรเปลี่ยนโดยไม่มีขอบเขตที่สิ้นสุด ให้กำเนิดซึ่งกันและกัน เป็นวัฏจักรไม่มีเริ่มต้นและไม่มีที่สิ้นสุด ขึ้นอยู่กับผู้ที่จะนำไปคิดพลิกแพลงได้

      เปรียบกับธรรมชาติน้ำที่ไหลเชี่ยวสามารถพาหินใหญ่เคลื่อนที่ได้ เพราะอานุภาพของกำลัง และความเร็ว สัตว์อย่างอินทรีย์สามารถเข้าโฉบเหยื่อ และขย้ำจนแหลกลาญ เพราะรู้จักการประมาณช่วงระยะของการเข้าโจมตีฉันใด

      ผู้ที่ชำนาญในการรบ ย่อมสามารถสร้างยุทธานุภาพด้วยความเร็ว และกำลังอันน่าสะพรึงกลัว พร้อมกับโจมตีในระยะที่สั้นได้ ฉันนั้น

      อานุภาพของการยุทธนั้นคล้ายธนูที่ง้างเตรียมยิงเต็มที่แล้ว พร้อมที่จะปล่อยมันออกมาด้วยความรุนแรง

      ขณะที่เข้าต่อสู้กัน ต้องสู้รบในสภาพชุลมุนวุ่นวายโดยกองทัพไม่สับสน ต้องพลิกแพลงสถานการณ์ โดยที่กองทัพไม่พ่ายแพ้ การรบที่แสร้งทำชุลมุนวุ่นวาย ต้องมาจากการรบอย่างมีระเบียบวินัย อาการที่แสร้งทำว่าขลาดกลัว ต้องมาจากการรบอย่างกล้าหาญ  และการรบที่แสร้งทำทีว่าอ่อนแออ่อนเปลี้ย ต้องมาจากการรบอย่างเข้มแข็ง

      ความมีระเบียบวินัย หรือความชุลมุนวุ่นวาย ตัดสินที่การจัดกำลังพล

      ความกล้าหาญหรือความขี้ขลาด ตัดสินกันที่ศักยภาพ (ในการสำแดงศักยภาพให้ศัตรูเห็น ทหารที่ขี้ขลาด ก็กลับมากล้าหาญไปด้วย)

      ความเข้มแข็งหรือความอ่อนแอ ตัดสินกันที่กำลัง และลักษณะของกระบวนทัพ (ถึงแม้กระบวนทัพที่มีกำลังมากถ้ากระบวนทัพไม่ดีก็อ่อนแอได้เช่นกัน)

      ผู้ชำนาญการศึก สามารถสร้างสถานการณ์ ลวงให้ข้าศึกเคลื่อนไหว และใช้ผลประโยชน์หลอกล่อข้าศึกช่วงชิงความได้เปรียบตามที่ฝ่ายตนต้องการ

      ดังนั้นผู้ที่ชำนาญการศึก ย่อมแสวงชัยชนะโดยการสร้างสถานการณ์ ที่ได้เปรียบอยู่เสมอ รู้จักใช้คน และทรัพยากร ให้คล้อยตามสภาวการณ์ได้เปรียบที่สร้างขึ้น

      ผู้นำทัพจะคล้อยตามสภาวการณ์ได้เปรียบที่สร้างขึ้น สามารถบัญชากองทัพให้สู้รบกับข้าศึก อย่างกับพลิกฝ่ามือ เปรียบดั่งธรรมชาติไม้หรือก้อนหินนั้นอยู่ในที่ราบจะนิ่งไม่ขยับเขยื้อน แต่ถ้าอยู่บนที่สูงลาดชันถ้ากลิ้งลงมา อานุภาพการทำลาย การบดขยี้สิ่งที่ขวางทางไม่ต้องพูดถึง 

      ดังนั้นผู้ที่ชำนาญในการสงครามจึงอยู่ในสภาวะที่ได้เปรียบ และผลการได้เปรียบสามารถทำความเสียหายใหญ่หลวงต่อข้าศึก และนี่คืออานุภาพของการยุทธ

วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2561

หลักกลยุทธ์ซุนวู 3+4




บทที่ ๒ การทำสงคราม

ยกพลหนึ่งแสน รถม้าศึกสี่พันคัน รถหุ้มเกราะหนึ่งพันคัน พลเกราะหนึ่งแสน และเสบียงอาหารสำหรับใช้เดินทางไกล ความสิ้นเปลืองย่อมเกิดขึ้นทั้งแนวหน้า และความลำบากในแนวหลัง อีกทั้งค่าใช้จ่ายในยุทธปัจจัย และค่าซ่อมบำรุง อันมหาศาล

       ในการทำสงครามนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความลำบากกันในภายหลัง ต้องกระทำกันอย่างรวดเร็ว อย่าทำการรบแบบยืดเยื้อ เพราะถ้าทำการรบยาวนานเกินไป กองทัพจะมีความอ่อนล้า ขวัญกำลังใจตกต่ำ

      เมื่อถึงคราวจะตีเข้ายึดเมือง กองทัพก็หมดแรงเสียแล้ว นี้ยังไม่รวมแนวหลังที่ต้องมีความลำบากยากแค้นข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจฝืดเคือง ความอดอยาก โจรผู้ร้ายก็จะตามมา บางครั้งอาจเกิดการกบฏภายในเมือง หากแม้นว่าตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ แม้จะมีผู้มีสติปัญญาดีเลิศเพียงใดก็แก้วิกฤติได้ลำบาก

      จึงกล่าวได้ว่า การทำสงครามต้องยึดหลักรวดเร็วถึงแม้จะหยาบไปบ้าง ก็ยังดีกว่ามัวชักช้า โลเล ค่อย ๆ บรรจงประณีต ยังไม่เคยเห็นสงครามที่ไหนเลยที่สู้รบกันอย่างยาวนานแล้วประเทศกลับได้ประโยชน์

      ยกตัวอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน ก็ในสงครามอิรักสู้รบกันมาก็หลายปีแล้ว แม้ว่าทหารสหรัฐจะมีเทคโนโลยีสมัยใหม่เพียงใดในการสู้รบ แต่ทว่าสงครามยังคงไม่สงบอย่างแท้จริง การต่อต้านก็มีเรื่อย ๆ ประชาชน และทหารก็บาดเจ็บ ล้มตายลงเป็นจำนวนมาก งบประมาณของกองทัพอเมริกาก็ส่งไปยังตะวันออกกลางเป็นจำนวนมหาศาล ผู้คนไม่ว่าจะอยู่ในอิรัก หรือในอเมริกา ต่างก็มีความหวาดกลัว หวาดระแวง ชีวิตประจำวันไม่เหมือนเดิม  จะเห็นได้ว่าหาผลดีของสงครามไม่ได้เลย

      ผู้ที่จัดเจนในการสงคราม จึงไม่เกณฑ์ไพล่พล ไม่เกณฑ์เสบียงเป็นครั้งที่สอง แต่จะพึงยึดทรัพย์สิน แย่งเสบียงจากข้าศึก พูดง่าย ๆ ก็คือใช้เสบียงของข้าศึก ไม่ใช้เสบียงของตัวเอง หรือใช้ให้น้อยที่สุด

      ประเทศที่ยากจนจากสงคราม เนื่องจากต้องคอยส่งเสบียงไปสู่แนวหน้า ทำให้ประชาชนยากจนข้นแค้น กองทัพเมื่อถึงที่ใด ข้าวจะยากหมากจะแพง เป็นตรรกะเมื่อสินค้าแพงเงินทองในท้องพระคลังย่อมร่อยหรอ เมื่อท้องพระคลังร่อยหรอ ก็ต้องจัดเก็บภาษี เสบียงอย่างหนักและเร่งด่วน ความสิ้นเปลืองในสงคราม ทำให้ประชาชนถึงขั้นหมดตัว รายได้ไม่พอรายจ่าย ประเทศชาติต้องสูญเสียงบประมาณไปเป็นอันมาก ทั้งเงิน อาวุธ ยุทโธปกรณ์ เสบียง ไปอย่างมหาศาล

      เพราะฉะนั้น แม่ทัพที่มีสติปัญญา จึงรู้จักใช้เสบียงของข้าศึก กล่าวว่า กินเสบียงข้าศึก หนึ่งมื้อ เท่ากับประหยัดเสบียงตนยี่สิบมื้อ

      ส่วนรถศึก ถ้ายึดได้สิบคันขึ้นไป ควรให้รางวัลแก่ทหารผู้ปฏิบัติการ แล้วเปลี่ยนธงรถศึก พร้อมกับนำเข้าประจำการ

      ส่วนเชลยศึกที่จับได้นั้น ต้องปฏิบัติต่อด้วยดี และช่วงใช้ตามสมควร จึงอาจกล่าวได้ว่า ด้วยวิธีนี้ยิ่งชนะศึก ก็ยิ่งทำให้กองทัพของตนเข้มแข็ง

      ดังนั้น สรุปง่าย ๆ การทำสงครามจึงยึดหลักเผด็จศึกให้เร็ว ไม่ยืดเยื้อ แม่ทัพผู้ทำสงครามจะเป็นผู้ตัดสินความรอด หรือสลายของประเทศ และกุมความเป็น ตายของประชาชนทั้งปวง






บทที่ ๓ กลยุทธเชิงรุก

หลักในการทำสงคราม

- การสยบประเทศของข้าศึกได้ถือเป็นยุทธวิธีหลัก การทำลายประเทศของข้าศึกถือเป็นยุทธวิธีรอง (เมื่อไม่มีทางเลือก)

-  การสยบกองทัพของข้าศึกได้ถือเป็นยุทธวิธีหลัก การทำลายกองทัพของข้าศึกถือเป็นยุทธวิธีรอง

-  การสยบกองพันของข้าศึกได้ถือเป็นยุทธวิธีหลัก การทำลายกองพันของข้าศึกถือเป็นยุทธวิธีรอง

- การสยบกองร้อยของข้าศึกได้ถือเป็นยุทธวิธีหลัก การทำลายกองร้อยของข้าศึกถือเป็นยุทธวิธีรอง

- การสยบหมู่ของข้าศึกได้ถือเป็นยุทธวิธีหลัก การทำลายหมู่ของข้าศึกถือเป็นยุทธวิธีรอง

      
      ดังนั้น กองทัพที่รบร้อยครั้งก็ชนะร้อยครั้ง ก็ยังไม่สุดยอดเท่า กองทัพที่สามารถเอาชนะข้าศึกได้โดยไม่ต้องรบเลย


ยุทโธบายชั้นยอด ก็คือ

      อันดับแรก     เอาชนะข้าศึกในทางยุทธศาสตร์ (เปรียบกับนำมาใช้ทั่วไปคือ การวางแผน นโยบายดี ตั้งแต่ต้นยันจบ)

      อันดับต่อไป  เอาชนะข้าศึกทางการทูต (การเจรจา พูดคุย และการตกลงกันได้)

      อันดับต่อไป  เอาชนะข้าศึกด้วยยุทธวิธีทางทหาร (การข่มขวัญด้วย กำลัง และความสามารถที่มีเหนือกว่า)

      และอันดับสุดท้ายเมื่อ วิธีที่กล่าวข้างต้นไม่ได้ผล คือ การเข้าโจมตีเมืองของข้าศึก (การใช้กำลัง จัดการด้วยความสามารถที่มี)

      การใช้กำลังเข้าโจมตีข้าศึก ควรเป็นทางเลือกสุดท้าย เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการเข้าโจมตีต้องรีบเผด็จศึกโดยเร็วดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้ายังตีไม่ได้ นานวันเข้าอันตรายก็จะเข้ามาเยือน

      แม่ทัพผู้มีสติปัญญาในการใช้กำลังทหาร สามารถสยบข้าศึกได้โดยไม่ต้องรบ ยึดเมืองได้โดยไม่ต้องเข้าโจมตี และทำลายข้าศึกได้โดยใช้เวลาไม่นาน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือพึงเอาชนะศัตรูด้วยการชนะทางยุทธศาสตร์ กองทัพก็จะไม่เพลี่ยงพล้ำ และอ่อนล้า ก็จะสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้อย่างสมบูรณ์ นี่คือกลยุทธเชิงรุก

เมื่อต้องใช้กำลังทหารก็ให้ควรยึดหลัก

·        ถ้ามีกำลังมากกว่าข้าศึกสิบเท่า ให้พึงล้อมเอา

·        ถ้ามีกำลังมากกว่าข้าศึกห้าเท่า  ให้พึงบุกตีเอา


·        ถ้ามีกำลังมากกว่าข้าศึกหนึ่งเท่า  ให้กระหนาบเอา

·        ถ้ามีกำลังเท่ากับข้าศึก ให้ทำการแบ่งแยกกำลังของข้าศึก


·        ถ้ามีกำลังน้อยกว่าข้าศึก ให้ทำการสร้างป้อมปราการที่แข็งแกร่ง

·        และถ้ามีกำลังอ่อนแอกว่าข้าศึก จงหลีกเลี่ยงการรบขั้นแตกหัก พร้อมกับหนทางถอยทัพ เตรียมเข้าตีเมื่อมีกำลังเหนือกว่า เพราะถ้ากองทัพที่อ่อนแอเข้าสู่รบ ก็มีแต่ที่จะตกเป็นเชลยศึก


      ผู้นำทัพจึงเปรียบได้กับหลักชัยของประเทศชาติ ถ้าผู้นำทำหน้าที่อย่างครบถ้วน และทำงานอย่างสุดความสามารถ ประเทศชาติย่อมเข้มแข็ง หากผู้นำทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ และทำงานไม่เต็มความสามารถ เมื่อนั้นประเทศชาติย่อมอ่อนแอ


ผู้มีอำนาจปกครองประเทศสามารถนำความเสียหายมาสู่กองทัพได้ ๓ ประการ คือ

      ๑. เมื่อไม่ทราบว่ากองทัพไม่อาจคืบหน้าได้ แต่กลับมีคำสั่งให้กองทัพคืบหน้า และไม่ทราบว่ากองทัพไม่อาจถอยทัพได้ แต่กลับมีคำสั่งให้ถอยทัพ นี้คือการมัดกองทัพ

      ๒. เมื่อไม่เข้าใจกิจการทางทหาร แต่กลับแทรกแซงการบริหาร ทำให้แม่ทัพนายกองมีความสับสน งุนงง

      ๓. เมื่อไม่เข้าใจหลักยุทธวิธีทางทหาร แต่กลับเข้าแทรกแซงการบังคับบัญชา ทำให้แม่ทัพนายกองรู้สึกวิตกกังวล

      เมื่อแม่ทัพนายกองมีความสับสน งุนงง และวิตกกังงล ข้าศึกที่ก็อาจคุกคามประเทศ นี่คือการสร้างให้กองทัพระส่ำระสาย เป็นช่องทางให้ศัตรูบุกเข้ามา


วิธีดูว่าฝ่ายไหนจะชนะข้าศึกมีอยู่ ๕ ประการ ได้แก่

๑. ฝ่ายไหนรู้ว่าควรรบหรือไม่ควรรบ ฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายชนะ

๒. ฝ่ายไหนรู้ว่าต้องใช้กำลังทหารมากน้อยเพียงใด ฝ่ายนั้นชนะ

๓.ฝ่ายไหนผู้มีอำนาจปกครอง แม่ทัพนายกองกับ ประชาชนมีเจตนาตรงกัน ฝ่ายนั้นชนะ

๔.            ฝ่ายไหนเตรียมพร้อมรับมือกับข้าศึกอย่างสมบูรณ์ ฝ่ายนั้นชนะ

๕.            ฝ่ายไหนมีแม่ทัพที่มีสติปัญญาความสามารถ และผู้ปกครองไม่แทรกแซงกิจการกองทัพ ฝ่ายนั้นชนะ





หลักกลยุทธ์ซุนวู 1+2


เกริ่นนำกันก่อน

กลยุทธในทางสงครามที่ดีที่สุด คือการเอาชนะข้าศึกได้โดยไม่ต้องสู้รบ ยึดเมืองได้โดยไม่ต้องใช้กองกำลังเข้าตี และสามารถทำให้ข้าศึกแพ้ได้โดยไม่ต้องรบยืดเยื้อ


แนะนำเพื่อให้อ่านได้ต่อเนื่องให้ คลิกขวาเลือก Open link in new window

      ซุนวู (孫武: Sūn Wǔ) มีชีวิตระหว่าง ๒๔๐๐-๕๐๐ ปีก่อนพุทธกาล ก่อนยุคสมัยสามก๊กจะเริ่มขึ้น เขาได้เป็นนักการทหาร และเป็นนักปกครอง ในสมัยชุนชิว ซุนวูพื้นเพเป็นคนประเทศฉี (เป็นส่วนหนึ่งของจีนในสมัยนั้น) เขาได้รับสมญานามว่าเป็นมังกรอีกผู้หนึ่งในสมัยนั้น

      เป็นผู้คิดค้นกลยุทธในทางสงคราม ที่เรียกว่า คัมภีร์ (ตำรา) พิชัยสงครามซุนวู (Art of war: Sun-Tzu) เป็นที่กล่าวขานกัน และใช้ประโยชน์กันอย่างมาก ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเป็นที่นำไปใช้กันมากในทางสงคราม อีกทั้งรวมไปถึงการนำมาปรับใช้ในการดำรงชีวิตไม่ว่าจะเป็นทางธุรกิจ, การบริหาร, การปกครอง, ทางทหาร ฯลฯ



กลยุทธในทางสงครามถ้าพิจารณาดี ๆ แล้ว ตำราพิชัยสงครามของซุนวูนี้ สามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้ เมื่อศึกษากันอย่างละเอียดลึกซึ้งแล้ว สามารถนำความรู้นั้นมาใช้เป็นประโยชน์กับตัวเอง และผู้อื่นได้อีกด้วย

ตำราของซุนวูนั้นมีทั้งหมด ๑๓ บท ดังนี้

      บทที่ ๑  การวางแผน

      บทที่ ๒ การทำสงคราม

      บทที่ ๓ กลยุทธเชิงรุก

      บทที่ ๔ ลักษณะการยุทธ

      บทที่ ๕ อานุภาพของกลยุทธ

      บทที่ ๖ การรู้ตื้นลึกหนาบาง

      บทที่ ๗ การดำเนินกลยุทธ

      บทที่ ๘ ความผันแปร ๙ ประการ

      บทที่ ๙ การเดินทัพ

      บทที่ ๑๐ ลักษณะภูมิประเทศ

      บทที่ ๑๑ พื้นที่ ๙ ลักษณะ

      บทที่ ๑๒ โจมตีด้วยไฟ

      บทที่ ๑๓ การใช้สายลับ






      อนึ่ง ความรู้ไม่ว่าแขนงใด ๆ เมื่อศึกษาจนแตกฉานแล้ว จะมีคุณอนันต์ แล้วก็มีโทษมหันต์ เป็นดาบสองคม คนมีความรู้ถ้านำไปใช้ในทางที่ผิดความเสียหายจะเกิดอย่างใหญ่หลวงมากกว่าคนที่ไม่มีความรู้ จึงขอวิงวอนอย่านำความรู้ไปใช้ในทางที่ผิด และให้ทดแทนคุณต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติ  





บทที่ ๑ การวางแผน

รู้เขารู้เรารบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง รู้เราแต่ไม่รู้เขาหรือรู้เขาแต่ไม่รู้เรารบแพ้บ้างชนะบ้าง ไม่รู้เขาและไม่รู้เรารบร้อยครั้งแพ้ร้อยครั้ง


      การทำสงคราม (สามารถนำไปปรับใช้ได้กับการทำงาน การดำเนินธุรกิจ) เป็นเรื่องใหญ่ของประเทศซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตของทหาร และประชาชน ซึ่งเป็นทั้งทางแห่งการดำรงอยู่ หรือความล่มสลายของประเทศชาติ ซึ่งผู้ปกครองประเทศต้องคิดให้ดีก่อนตัดสินใจ

      เมื่อตัดสินใจทำสงครามแล้ว จะต้องคำนึงถึงหลักพื้นฐาน ๕ ประการเป็นอันดับแรก ใช้ในการเปรียบสภาพของเราเทียบกับของข้าศึก เพื่อคาดการณ์ผลแพ้ชนะของสงคราม หลักพื้นฐาน ๕ ประการนั้น ได้แก่


๑.๑ รวมใจเป็นหนึ่งเดียว
     
      หมายความว่า เจตนารมณ์ของฝ่ายประชาชน (ผู้ถูกปกครอง, ผู้ใต้บังคับบัญชา) กับฝ่ายผู้ปกครองประเทศ (ผู้นำ, ผู้บังคับบัญชา) ต้องไปในทิศทางเดียวกัน และประชาชนยินดีร่วมเป็นร่วมตายกันไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

      การที่ผู้ปกครองประเทศจะทำอย่างนี้ได้ คุณธรรม และความจริงใจเป็นสิ่งสำคัญ จะปกครองคนต้องปกครองเขาที่ใจ ไม่ใช่วิธีการบังคับ หรือทำให้ลุ่มหลง แล้วประชาชนจะอยู่เคียงข้างผู้ปกครองเอง


๑.๒ ศึกษาสภาพภูมิอากาศ

      ความหมายก็คือ ให้ดูว่าจะทำการรบเป็นเวลาอะไร? กลางวัน หรือกลางคืน, ฤดูกาลอะไร? ฤดูหนาว ฤดูร้อน หรือฤดูฝน, ความผันแปรของสภาพอากาศ เช่น ฝนตก น้ำท่วม ไฟไหม้ พายุ ฯลฯ


๑.๓ ศึกษาสภาพภูมิประเทศ

      หมายถึงสภาพแวดล้อมบริเวณที่ ที่จะทำสงครามว่าเป็นพื้นที่ราบ หรือพื้นที่ลุ่ม อยู่ใกล้หรืออยู่ไกล เป็นพื้นที่อันตราย หรือเป็นพื้นที่เข้าออกสะดวก เป็นพื้นที่กว้างใหญ่ หรือพื้นที่คับแคบ เป็นพื้นที่เปิดหรือพื้นที่ปิด


๑.๔ ผู้นำทัพ

      หมายถึงผู้นำที่มีสติปัญญา ศึกษาการศึกอย่างละเอียด รู้จักพลิกแพลงกลยุทธ์ มีสัจจะ รักษาคำพูด มีความเมตตากรุณาต่อผู้ใต้บังคับบัญชา และผู้อื่น มีความกล้าหาญ มีคุณธรรม เคร่งครัดในระเบียบวินัย และเที่ยงธรรม


๑.๕ กฎ

      หมายถึง กฎข้อบังคับ, ระบบ, ระเบียบวินัยของกองทัพ, ระบบการจัดอัตรากำลังพล และระบบการจัดสรรอาวุธยุทโธปกรณ์
 
      ปัญหาทั้ง ๕ ประการนี้ผู้นำต้องศึกษาทำความเข้าใจให้รู้แจ้งจึงมีชัยชนะ ผู้ไม่ศึกษาย่อมเป็นฝ่ายปราชัย

      เมื่อทำการศึกษาอย่างถ่องแท้แล้ว ก็ลองทำการเปรียบเทียบสภาพของเรา กับข้าศึกดู เพื่อคาดคะเนผลแพ้ / ชนะ ที่จะเกิดขึ้นในการทำสงคราม ซึ่งได้แก่

·        ผู้นำฝ่ายใดปกครองอย่างเป็นธรรม

·        แม่ทัพฝ่ายใดมีความสามารถมากกว่ากัน

·        สภาพภูมิอากาศได้เอื้อประโยชน์ให้แก่ฝ่ายใด

·        ฝ่ายใดมีความเคร่งครัดในระเบียบวินัย

·        กองกำลังฝ่ายไหนเข้มแข็งกว่ากัน

·        กำลังพลฝ่ายไหนได้ผ่านการถูกฝึกมาอย่างดี

·        ฝ่ายใดมีการลงโทษผู้กระทำความผิด และให้รางวัลแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ อย่างเคร่งครัดเที่ยงธรรม

      เมื่อทำการพิจารณาเปรียบเทียบกันแล้ว ก็พอจะทราบเป็นเบื้องต้นได้ว่า กองกำลังฝ่ายไหนจักมีชัย หรือปราชัยในการทำศึกสงคราม

      ถ้าหากว่าแม่ทัพได้ทำการวางแผนบนพื้นฐานที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วย่อมจะชนะในการศึกสงครามที่เกิดขึ้น ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะให้รางวัลแก่แม่ทัพผู้นั้น

      หากว่าแม่ทัพไม่ได้ทำตามข้อที่กล่าวมาข้างต้นแล้วก็ย่อมจะพ่ายแพ้ในสงครามนั้น ก็สมควรที่จะต้องลงโทษตามความหนักเบาของความผิด หรือก็จงปลดออกจากแม่ทัพเสีย

      เมื่อทำการวางแผนที่ยอดเยี่ยมแล้วเพื่อไม่ประมาท ในขั้นต่อไปก็จงสร้างสภาวการณ์, สถานการณ์ หรือกุศโลบายหนึ่ง ๆ เพื่อเป็นปัจจัยสนับสนุนแผนที่ได้วางเอาไว้

      การสร้างสภาวการณ์นั้น จะต้องเป็นฝ่ายกระทำเขาไม่ใช่เป็นฝ่ายที่ถูกกระทำ ในการพลิกแพลงต้องคำนึงถึงความได้เปรียบเป็นหลัก


สภาวการณ์ที่พึงสร้างขึ้นเพื่อความได้เปรียบในการสงคราม

·        เรามีความสามารถ ก็แสดงให้เห็นว่า เราไร้ความสามารถ

·        จะทำสงคราม ก็แสดงให้เห็นว่า จะไม่ทำสงคราม

·        จะตีใกล้ แสดงให้เห็นว่า จะตีไกล

·        จะตีไกล แสดงให้เห็นว่า จะตีใกล้

·        ถ้าข้าศึกมีความโลภ ก็ให้หลอกล่อด้วยผลประโยชน์

·        ถ้าภายในของกองกำลังข้าศึกมีความปั่นป่วน ก็ทำการรบขั้นแตกหัก

·        ถ้าข้าศึกมีกำลังมาก ให้เตรียมพร้อมเสมอ

·        ถ้าข้าศึกมีความแข็งแกร่ง ก็ให้พึงหลีกเลี่ยง

·        ถ้าข้าศึกฮึกเหิม ให้ทำการบั่นทอนขวัญกำลังใจของข้าศึก

·        ถ้าข้าศึกมีความสุขุมเยือกเย็น จงยั่วให้ข้าศึกขาดสติ

·        ถ้าข้าศึกสุขสบาย ก็ทำการรังควาญข้าศึกให้อ่อนเปลี้ยเพลียแรง

·        ถ้าข้าศึกมีความสามัคคี ก็ทำการยุแยงให้แตกแยก

·        พึงทำการโจมตีข้าศึกในขณะที่ข้าศึกไม่ได้เตรียมพร้อม จู่โจมในขณะที่ข้าศึกไม่คาดคิด

      นี้คือการสร้างสภาวการณ์ที่ตนเองเป็นฝ่ายกระทำ เพื่อตอกย้ำชัยชนะในแผนที่ได้วางเอาไว้ นักวางแผนที่ดีจะต้องรู้จักพลิกแพลงให้เป็นไปตามสภาวการณ์ที่ได้พบเจอ ก็จะทำให้หนทางไม่อับจน

      หากชนะก่อนที่จะทำการรบ แสดงว่าได้วางแผนมาอย่างละเอียดรอบคอบดีแล้ว ชัยชนะย่อมเป็นของผู้วางแผนที่ดี หากไม่ชนะ (ติดขัดในการวางแผน) ก่อนที่จะรบ แสดงว่าไม่ได้ทำการวางแผนมาอย่างละเอียดรอบคอบเท่าที่ควร ความพ่ายแพ้ปราชัยก็จะถามหา ดังนั้นจะมีเหตุผลอะไรอีกล่ะ? ที่เราจะไม่กล่าวถึงการวางแผนการรบ