วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2561

หลักกลยุทธ์ซุนวู 3+4




บทที่ ๒ การทำสงคราม

ยกพลหนึ่งแสน รถม้าศึกสี่พันคัน รถหุ้มเกราะหนึ่งพันคัน พลเกราะหนึ่งแสน และเสบียงอาหารสำหรับใช้เดินทางไกล ความสิ้นเปลืองย่อมเกิดขึ้นทั้งแนวหน้า และความลำบากในแนวหลัง อีกทั้งค่าใช้จ่ายในยุทธปัจจัย และค่าซ่อมบำรุง อันมหาศาล

       ในการทำสงครามนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความลำบากกันในภายหลัง ต้องกระทำกันอย่างรวดเร็ว อย่าทำการรบแบบยืดเยื้อ เพราะถ้าทำการรบยาวนานเกินไป กองทัพจะมีความอ่อนล้า ขวัญกำลังใจตกต่ำ

      เมื่อถึงคราวจะตีเข้ายึดเมือง กองทัพก็หมดแรงเสียแล้ว นี้ยังไม่รวมแนวหลังที่ต้องมีความลำบากยากแค้นข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจฝืดเคือง ความอดอยาก โจรผู้ร้ายก็จะตามมา บางครั้งอาจเกิดการกบฏภายในเมือง หากแม้นว่าตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ แม้จะมีผู้มีสติปัญญาดีเลิศเพียงใดก็แก้วิกฤติได้ลำบาก

      จึงกล่าวได้ว่า การทำสงครามต้องยึดหลักรวดเร็วถึงแม้จะหยาบไปบ้าง ก็ยังดีกว่ามัวชักช้า โลเล ค่อย ๆ บรรจงประณีต ยังไม่เคยเห็นสงครามที่ไหนเลยที่สู้รบกันอย่างยาวนานแล้วประเทศกลับได้ประโยชน์

      ยกตัวอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน ก็ในสงครามอิรักสู้รบกันมาก็หลายปีแล้ว แม้ว่าทหารสหรัฐจะมีเทคโนโลยีสมัยใหม่เพียงใดในการสู้รบ แต่ทว่าสงครามยังคงไม่สงบอย่างแท้จริง การต่อต้านก็มีเรื่อย ๆ ประชาชน และทหารก็บาดเจ็บ ล้มตายลงเป็นจำนวนมาก งบประมาณของกองทัพอเมริกาก็ส่งไปยังตะวันออกกลางเป็นจำนวนมหาศาล ผู้คนไม่ว่าจะอยู่ในอิรัก หรือในอเมริกา ต่างก็มีความหวาดกลัว หวาดระแวง ชีวิตประจำวันไม่เหมือนเดิม  จะเห็นได้ว่าหาผลดีของสงครามไม่ได้เลย

      ผู้ที่จัดเจนในการสงคราม จึงไม่เกณฑ์ไพล่พล ไม่เกณฑ์เสบียงเป็นครั้งที่สอง แต่จะพึงยึดทรัพย์สิน แย่งเสบียงจากข้าศึก พูดง่าย ๆ ก็คือใช้เสบียงของข้าศึก ไม่ใช้เสบียงของตัวเอง หรือใช้ให้น้อยที่สุด

      ประเทศที่ยากจนจากสงคราม เนื่องจากต้องคอยส่งเสบียงไปสู่แนวหน้า ทำให้ประชาชนยากจนข้นแค้น กองทัพเมื่อถึงที่ใด ข้าวจะยากหมากจะแพง เป็นตรรกะเมื่อสินค้าแพงเงินทองในท้องพระคลังย่อมร่อยหรอ เมื่อท้องพระคลังร่อยหรอ ก็ต้องจัดเก็บภาษี เสบียงอย่างหนักและเร่งด่วน ความสิ้นเปลืองในสงคราม ทำให้ประชาชนถึงขั้นหมดตัว รายได้ไม่พอรายจ่าย ประเทศชาติต้องสูญเสียงบประมาณไปเป็นอันมาก ทั้งเงิน อาวุธ ยุทโธปกรณ์ เสบียง ไปอย่างมหาศาล

      เพราะฉะนั้น แม่ทัพที่มีสติปัญญา จึงรู้จักใช้เสบียงของข้าศึก กล่าวว่า กินเสบียงข้าศึก หนึ่งมื้อ เท่ากับประหยัดเสบียงตนยี่สิบมื้อ

      ส่วนรถศึก ถ้ายึดได้สิบคันขึ้นไป ควรให้รางวัลแก่ทหารผู้ปฏิบัติการ แล้วเปลี่ยนธงรถศึก พร้อมกับนำเข้าประจำการ

      ส่วนเชลยศึกที่จับได้นั้น ต้องปฏิบัติต่อด้วยดี และช่วงใช้ตามสมควร จึงอาจกล่าวได้ว่า ด้วยวิธีนี้ยิ่งชนะศึก ก็ยิ่งทำให้กองทัพของตนเข้มแข็ง

      ดังนั้น สรุปง่าย ๆ การทำสงครามจึงยึดหลักเผด็จศึกให้เร็ว ไม่ยืดเยื้อ แม่ทัพผู้ทำสงครามจะเป็นผู้ตัดสินความรอด หรือสลายของประเทศ และกุมความเป็น ตายของประชาชนทั้งปวง






บทที่ ๓ กลยุทธเชิงรุก

หลักในการทำสงคราม

- การสยบประเทศของข้าศึกได้ถือเป็นยุทธวิธีหลัก การทำลายประเทศของข้าศึกถือเป็นยุทธวิธีรอง (เมื่อไม่มีทางเลือก)

-  การสยบกองทัพของข้าศึกได้ถือเป็นยุทธวิธีหลัก การทำลายกองทัพของข้าศึกถือเป็นยุทธวิธีรอง

-  การสยบกองพันของข้าศึกได้ถือเป็นยุทธวิธีหลัก การทำลายกองพันของข้าศึกถือเป็นยุทธวิธีรอง

- การสยบกองร้อยของข้าศึกได้ถือเป็นยุทธวิธีหลัก การทำลายกองร้อยของข้าศึกถือเป็นยุทธวิธีรอง

- การสยบหมู่ของข้าศึกได้ถือเป็นยุทธวิธีหลัก การทำลายหมู่ของข้าศึกถือเป็นยุทธวิธีรอง

      
      ดังนั้น กองทัพที่รบร้อยครั้งก็ชนะร้อยครั้ง ก็ยังไม่สุดยอดเท่า กองทัพที่สามารถเอาชนะข้าศึกได้โดยไม่ต้องรบเลย


ยุทโธบายชั้นยอด ก็คือ

      อันดับแรก     เอาชนะข้าศึกในทางยุทธศาสตร์ (เปรียบกับนำมาใช้ทั่วไปคือ การวางแผน นโยบายดี ตั้งแต่ต้นยันจบ)

      อันดับต่อไป  เอาชนะข้าศึกทางการทูต (การเจรจา พูดคุย และการตกลงกันได้)

      อันดับต่อไป  เอาชนะข้าศึกด้วยยุทธวิธีทางทหาร (การข่มขวัญด้วย กำลัง และความสามารถที่มีเหนือกว่า)

      และอันดับสุดท้ายเมื่อ วิธีที่กล่าวข้างต้นไม่ได้ผล คือ การเข้าโจมตีเมืองของข้าศึก (การใช้กำลัง จัดการด้วยความสามารถที่มี)

      การใช้กำลังเข้าโจมตีข้าศึก ควรเป็นทางเลือกสุดท้าย เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการเข้าโจมตีต้องรีบเผด็จศึกโดยเร็วดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้ายังตีไม่ได้ นานวันเข้าอันตรายก็จะเข้ามาเยือน

      แม่ทัพผู้มีสติปัญญาในการใช้กำลังทหาร สามารถสยบข้าศึกได้โดยไม่ต้องรบ ยึดเมืองได้โดยไม่ต้องเข้าโจมตี และทำลายข้าศึกได้โดยใช้เวลาไม่นาน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือพึงเอาชนะศัตรูด้วยการชนะทางยุทธศาสตร์ กองทัพก็จะไม่เพลี่ยงพล้ำ และอ่อนล้า ก็จะสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้อย่างสมบูรณ์ นี่คือกลยุทธเชิงรุก

เมื่อต้องใช้กำลังทหารก็ให้ควรยึดหลัก

·        ถ้ามีกำลังมากกว่าข้าศึกสิบเท่า ให้พึงล้อมเอา

·        ถ้ามีกำลังมากกว่าข้าศึกห้าเท่า  ให้พึงบุกตีเอา


·        ถ้ามีกำลังมากกว่าข้าศึกหนึ่งเท่า  ให้กระหนาบเอา

·        ถ้ามีกำลังเท่ากับข้าศึก ให้ทำการแบ่งแยกกำลังของข้าศึก


·        ถ้ามีกำลังน้อยกว่าข้าศึก ให้ทำการสร้างป้อมปราการที่แข็งแกร่ง

·        และถ้ามีกำลังอ่อนแอกว่าข้าศึก จงหลีกเลี่ยงการรบขั้นแตกหัก พร้อมกับหนทางถอยทัพ เตรียมเข้าตีเมื่อมีกำลังเหนือกว่า เพราะถ้ากองทัพที่อ่อนแอเข้าสู่รบ ก็มีแต่ที่จะตกเป็นเชลยศึก


      ผู้นำทัพจึงเปรียบได้กับหลักชัยของประเทศชาติ ถ้าผู้นำทำหน้าที่อย่างครบถ้วน และทำงานอย่างสุดความสามารถ ประเทศชาติย่อมเข้มแข็ง หากผู้นำทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ และทำงานไม่เต็มความสามารถ เมื่อนั้นประเทศชาติย่อมอ่อนแอ


ผู้มีอำนาจปกครองประเทศสามารถนำความเสียหายมาสู่กองทัพได้ ๓ ประการ คือ

      ๑. เมื่อไม่ทราบว่ากองทัพไม่อาจคืบหน้าได้ แต่กลับมีคำสั่งให้กองทัพคืบหน้า และไม่ทราบว่ากองทัพไม่อาจถอยทัพได้ แต่กลับมีคำสั่งให้ถอยทัพ นี้คือการมัดกองทัพ

      ๒. เมื่อไม่เข้าใจกิจการทางทหาร แต่กลับแทรกแซงการบริหาร ทำให้แม่ทัพนายกองมีความสับสน งุนงง

      ๓. เมื่อไม่เข้าใจหลักยุทธวิธีทางทหาร แต่กลับเข้าแทรกแซงการบังคับบัญชา ทำให้แม่ทัพนายกองรู้สึกวิตกกังวล

      เมื่อแม่ทัพนายกองมีความสับสน งุนงง และวิตกกังงล ข้าศึกที่ก็อาจคุกคามประเทศ นี่คือการสร้างให้กองทัพระส่ำระสาย เป็นช่องทางให้ศัตรูบุกเข้ามา


วิธีดูว่าฝ่ายไหนจะชนะข้าศึกมีอยู่ ๕ ประการ ได้แก่

๑. ฝ่ายไหนรู้ว่าควรรบหรือไม่ควรรบ ฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายชนะ

๒. ฝ่ายไหนรู้ว่าต้องใช้กำลังทหารมากน้อยเพียงใด ฝ่ายนั้นชนะ

๓.ฝ่ายไหนผู้มีอำนาจปกครอง แม่ทัพนายกองกับ ประชาชนมีเจตนาตรงกัน ฝ่ายนั้นชนะ

๔.            ฝ่ายไหนเตรียมพร้อมรับมือกับข้าศึกอย่างสมบูรณ์ ฝ่ายนั้นชนะ

๕.            ฝ่ายไหนมีแม่ทัพที่มีสติปัญญาความสามารถ และผู้ปกครองไม่แทรกแซงกิจการกองทัพ ฝ่ายนั้นชนะ





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น