วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2561

หลักกลยุทธ์ซุนวู 5+6



บทที่ ๔ ลักษณะการยุทธ

ผู้นำทัพที่ชำนาญในสงคราม ย่อมทำให้ฝ่ายตนตั้งอยู่ในฐานะข้าศึกไม่สามารถเอาชนะได้ จากนั้นก็เพื่อรอจังหวะ และโอกาสทำสงครามเอาชนะข้าศึก

       การที่ข้าศึกไม่อาจเอาชนะเราได้จึงขึ้นอยู่กับฝ่ายเรา และการที่ข้าศึกสามารถเอาชนะเราได้ ก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายข้าศึกเช่นเดียวกัน
     
      ฉะนั้น ไม่แน่นอนเสมอไป ที่ฝ่ายเราตั้งตนอยู่ในฐานะข้าศึกเอาชนะไม่ได้ มันจึงขึ้นอยู่กับทั้งสองฝ่าย อันชัยชนะที่ได้จากสงครามหยั่งรู้กันได้ แต่ไม่อาจสร้างได้เสมอไป

      เมื่อฝ่ายเราไม่สามารถเอาชนะข้าศึกได้ ให้รับมือป้องกัน แล้วรอจนกว่าฝ่ายเราพร้อม จึงเข้าโจมตี

      พึงตั้งรับป้องกัน เมื่อข้าศึกมีกำลังมาก และโจมตีเมื่อข้าศึกมีกำลังไม่พอ

      ผู้นำทัพที่ชำนาญในด้านป้องกัน ประหนึ่งสามารถอำพรางกองทัพให้เร้นลับได้โดยไม่มีใครรู้

      ส่วนผู้นำทัพที่ชำนาญในการบุกโจมตี จะสามารถทุ่มกำลังดังเหมือนสายฟ้าฟาดใส่ข้าศึก

      ผู้ที่สามารถหยั่งรู้ชัยชนะที่ใครต่อใครก็ทราบ ไม่ใช่ผู้สุดยอดในการทำสงคราม

      ผู้ที่ชนะสงครามแล้วถูกยกย่องสรรเสริญ ก็ไม่ใช่ผู้ที่สุดยอดในการทำสงครามเช่นเดียวกัน

ดั่งภาษิตจีนที่กล่าวไว้ว่า

ผู้ที่สามารถยกขนสัตว์ได้ อาจไม่ใช่จอมพลังอย่างแท้จริง
      
       ผู้ที่สามารถมองเห็นเดือน เห็นตะวัน ก็มิใช่ผู้ที่มีดวงตาแจ่มกระจ่างเสมอไป
      
       ผู้ที่ได้ยินเสียงฟ้าร้อง ก็ไม่ใช่ผู้ที่มีประสาทหูดีเสมอไป
 
      ผู้ที่ได้ชื่อว่าสุดยอดแห่งการทำสงครามอย่างแท้จริง มักทำการรบชนะข้าศึกได้ง่าย อย่างธรรมดาที่สุด ไม่มีชื่อเสียงทางด้านสติปัญญา (ไม่สนใจในด้านชื่อเสียงที่ได้รับ) และไม่มีความชอบในทางวีรกรรมที่อาจหาญ (หมายความถึง ไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ จากลาภ ยศ สรรเสริญ) ฉะนั้นผู้นำเหล่านี้จะชนะการรบแน่นอน และไม่เกิดความผันแปรอย่างเด็ดขาด

       เพราะฉะนั้น ผู้ที่ชำนาญการใช้กำลังทหาร จะต้องมีการปรับปรุงกิจการปกครองทหารเสมอ และ ต้องหมั่นศึกษาเงื่อนไขพื้นฐานในการเอาชนะข้าศึก จึงจะเป็นผู้ตัดสินแพ้ชนะได้


เงื่อนไขพื้นฐานมี ๕ ประการ

พื้นที่ ทรัพยากร จำนวนพล กำลังทหาร และชัยชนะ

๑. อาณาเขตที่มีมากทำให้ได้เปรียบในเรื่องของขนาดพื้นที่

๒. ขนาดพื้นมากที่ ก็ทำให้ได้เปรียบในเรื่องทรัพยากร

๓.ทรัพยากรมาก ก็ทำให้ได้เปรียบในเรื่องจำนวนพล

๔.            จำนวนพลมาก ก็ทำให้ได้เปรียบดุลกำลังทางทหาร (ตัวอย่างจีนมีพลเมืองมากทำอะไรส่วนใหญ่มักจะได้เปรียบ)

๕.            ดุลกำลังทางทหารมาก ก็ทำให้ทราบผลในการแพ้ชนะของสงคราม


      ฉะนั้นกองทัพผู้พิชิตจึงเปรียบเสมือนเอาไม้ซุงไปงัดไม้ซีก ส่วนกองทัพที่พ่ายแพ้ก็ไม่ต่างกับเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง


      การทำการสงครามของผู้ชนะ เปรียบได้กับการปล่อยน้ำที่เก็บบนหน้าผาสูง ให้ไหลลงสู่พื้นที่ต่ำ อานุภาพการทำลายมีสูงมาก และนี่คือลักษณะของการยุทธ






บทที่ ๕ อานุภาพของกลยุทธ


สามารถปกครองไพล่พลจำนวนมากได้ ประดุจดั่งปกครองไพร่พลเพียงไม่กี่คน

       สามารถบังคับบัญชากองทัพใหญ่ให้สู้รบได้ ประดุจดั่งบัญชากองทัพขนาดเล็ก

       สามารถรับมือกับข้าศึกได้โดยไม่พ่ายแพ้ โดยใช้กลยุทธในการรบในแบบ และรบนอกแบบ อย่างพลิกแพลง

       และสามารถโจมตีข้าศึกได้ประดุจดังใช้หินกระทบไข่ โดยการหลีกเลี่ยงจุดแข็งตีจุดอ่อนของข้าศึก


      การสู้รบนั้น มักต่อสู้กันซึ่งหน้าด้วยวิธีการรบในแบบ (ซึ่งหน้า ขาวสะอาด ตาต่อตา ฟันต่อฟัน) แต่รู้หรือไม่ส่วนใหญ่มักจะชนะกันในการรบนอกแบบ (การใช้เล่ห์เหลี่ยม)
  
      ผู้ที่ชำนาญในการรบนอกแบบ สามารถพลิกแพลงได้ไม่อับจนหนทาง ประดุจดังฟ้าดินที่ไร้ขอบเขต

      ไม่มีทางที่จะหมดสิ้น ประดุจดังมหาสมุทรที่ไม่มีทางแห้งขอด

      เมื่อจบแล้วสามารถเริ่มใหม่ ประดุจดังดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ตกแล้วขึ้น ขึ้นแล้วตก

      ตายแล้วก็สามารถฟื้นคืนใหม่ ประดุจดังฤดูกาลที่หมุนเวียนกันไป
     
      เสียง (ตามปรัชญาเบญจธาตุ) มีเพียงห้า แต่การผันแปรของเสียงนั้น มีมากจนเราไม่อาจฟังได้หมด

      สี (ตามปรัชญาเบญจธาตุ) มีเพียงห้า แต่การเปลี่ยนแปลงของสีนั้น มีมากจนเราไม่อาจดูได้หมด

      และรส (ตามปรัชญาเบญจธาตุ) มีเพียงห้า แต่การผสมของรสนั้น มีมากจนไม่อาจลิ้มชิมได้หมด

      กลยุทธก็เหมือนกัน แม้มีเพียงการรบนอกแบบ และรบในแบบ แต่กลยุทธทั้งสอง มีการแปรเปลี่ยนโดยไม่มีขอบเขตที่สิ้นสุด ให้กำเนิดซึ่งกันและกัน เป็นวัฏจักรไม่มีเริ่มต้นและไม่มีที่สิ้นสุด ขึ้นอยู่กับผู้ที่จะนำไปคิดพลิกแพลงได้

      เปรียบกับธรรมชาติน้ำที่ไหลเชี่ยวสามารถพาหินใหญ่เคลื่อนที่ได้ เพราะอานุภาพของกำลัง และความเร็ว สัตว์อย่างอินทรีย์สามารถเข้าโฉบเหยื่อ และขย้ำจนแหลกลาญ เพราะรู้จักการประมาณช่วงระยะของการเข้าโจมตีฉันใด

      ผู้ที่ชำนาญในการรบ ย่อมสามารถสร้างยุทธานุภาพด้วยความเร็ว และกำลังอันน่าสะพรึงกลัว พร้อมกับโจมตีในระยะที่สั้นได้ ฉันนั้น

      อานุภาพของการยุทธนั้นคล้ายธนูที่ง้างเตรียมยิงเต็มที่แล้ว พร้อมที่จะปล่อยมันออกมาด้วยความรุนแรง

      ขณะที่เข้าต่อสู้กัน ต้องสู้รบในสภาพชุลมุนวุ่นวายโดยกองทัพไม่สับสน ต้องพลิกแพลงสถานการณ์ โดยที่กองทัพไม่พ่ายแพ้ การรบที่แสร้งทำชุลมุนวุ่นวาย ต้องมาจากการรบอย่างมีระเบียบวินัย อาการที่แสร้งทำว่าขลาดกลัว ต้องมาจากการรบอย่างกล้าหาญ  และการรบที่แสร้งทำทีว่าอ่อนแออ่อนเปลี้ย ต้องมาจากการรบอย่างเข้มแข็ง

      ความมีระเบียบวินัย หรือความชุลมุนวุ่นวาย ตัดสินที่การจัดกำลังพล

      ความกล้าหาญหรือความขี้ขลาด ตัดสินกันที่ศักยภาพ (ในการสำแดงศักยภาพให้ศัตรูเห็น ทหารที่ขี้ขลาด ก็กลับมากล้าหาญไปด้วย)

      ความเข้มแข็งหรือความอ่อนแอ ตัดสินกันที่กำลัง และลักษณะของกระบวนทัพ (ถึงแม้กระบวนทัพที่มีกำลังมากถ้ากระบวนทัพไม่ดีก็อ่อนแอได้เช่นกัน)

      ผู้ชำนาญการศึก สามารถสร้างสถานการณ์ ลวงให้ข้าศึกเคลื่อนไหว และใช้ผลประโยชน์หลอกล่อข้าศึกช่วงชิงความได้เปรียบตามที่ฝ่ายตนต้องการ

      ดังนั้นผู้ที่ชำนาญการศึก ย่อมแสวงชัยชนะโดยการสร้างสถานการณ์ ที่ได้เปรียบอยู่เสมอ รู้จักใช้คน และทรัพยากร ให้คล้อยตามสภาวการณ์ได้เปรียบที่สร้างขึ้น

      ผู้นำทัพจะคล้อยตามสภาวการณ์ได้เปรียบที่สร้างขึ้น สามารถบัญชากองทัพให้สู้รบกับข้าศึก อย่างกับพลิกฝ่ามือ เปรียบดั่งธรรมชาติไม้หรือก้อนหินนั้นอยู่ในที่ราบจะนิ่งไม่ขยับเขยื้อน แต่ถ้าอยู่บนที่สูงลาดชันถ้ากลิ้งลงมา อานุภาพการทำลาย การบดขยี้สิ่งที่ขวางทางไม่ต้องพูดถึง 

      ดังนั้นผู้ที่ชำนาญในการสงครามจึงอยู่ในสภาวะที่ได้เปรียบ และผลการได้เปรียบสามารถทำความเสียหายใหญ่หลวงต่อข้าศึก และนี่คืออานุภาพของการยุทธ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น