วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2561

หลักกลยุทธ์ซุนวู 7 + 8


บทที่ ๖ การรู้ตื้นลึกหนาบาง

ทัพฝ่ายไหนเดินทัพมาถึงสมรภูมิก่อนได้เปรียบ ฝ่ายนั้นไม่อิดโรย

       ทัพฝ่ายไหนถึงทีหลัง ต้องเตรียมการรบอย่างฉุกละหุก ฝ่ายนั้นเหนื่อยล้า

       กองทัพที่ชำนาญการศึก ย่อมเป็นฝ่ายบงการศึก ไม่ยอมให้ข้าศึกมาบงการตน

       จะหลอกล่อข้าศึกให้เข้าในพื้นที่ที่เรากำหนด ก็ให้หลอกล่อให้ข้าศึกเกิดความโลภ จะสกัดกั้นไม่ให้ข้าศึกเข้ามาในพื้นที่ที่ไม่ต้องการให้เข้า ก็จงทำลายสิ่งที่ทำให้โลภนั้นเสีย

      ถึงแม้ว่าข้าศึกจะมีความกระฉับกระเฉง ก็สามารถทำให้ข้าศึกมีความอิดโรยได้ แม้นข้าศึกอิ่ม ก็ทำให้ข้าศึกนั้นหิวได้ แม้นข้าศึกตั้งมั่นในฐานที่มั่น ก็ทำให้ข้าศึกสามารถย้ายกองทัพได้

      ก็เป็นเพราะว่าเราเข้าโจมตีในส่วนที่มีความสำคัญของข้าศึก จงทำให้ข้าศึกเกิดความสับสนอลหม่าน และเข้าตีในส่วนที่ข้าศึกนึกไม่ถึง

      กองทัพเดินทางไกล โดยไม่อ่อนล้า ก็เพราะเดินทัพในเส้นทางที่ปลอดศัตรู เวลาเข้าโจมตีต้องโจมตีในส่วนที่ข้าศึกไม่สามารถป้องกันได้ ถึงคราวตั้งรับก็ตั้งรับอย่างมั่นคง เพราะต้องตั้งรับในส่วนที่รู้ว่าข้าศึกต้องโจมตีเราแน่ ๆ

      ทหารที่สันทัดในการบุกโจมตี ก็ให้เข้าโจมตีในส่วนที่ข้าศึกขาดการป้องกัน

      ทหารที่สันทัดในการตั้งรับ ก็จงป้องกันพื้นที่ที่ข้าศึกจะไม่เข้าตี

      ดังนั้น ผู้ที่ชำนาญการโจมตี ข้าศึกจะไม่รู้ว่าควรป้องกันที่ใด

      ส่วนผู้ที่ชำนาญในการตั้งรับ ข้าศึกก็จะไม่รู้ว่าจะเข้าตีที่ใด

      ทหารที่บุกโจมตีข้าศึกโดยข้าศึกไม่อาจตั้งรับได้ ก็เพราะเข้าโจมตีจุดอ่อนของข้าศึก

      ส่วนทหารที่จำเป็นต้องถอยทัพโดยศัตรูตามไม่ได้ จะกระทำอย่างรวดเร็วจนไม่มีใครไล่ตามทัน เปรียบเหมือนไป-มาดังลมพัด

      ดังนั้น ถ้าเราต้องการรบ ก็รบ ถึงแม้ว่าข้าศึกจะสร้างป้อมปราการไว้สูง และแข็งแกร่งเท่าใด ก็ต้องจำเป็นที่จะต้องทิ้งค่ายออกมารบอยู่ดี เพราะเราจะโจมตีในส่วนที่ข้าศึกจำเป็นต้องกอบกู้

      หากฝ่ายเราไม่ต้องการรบ ข้าศึกก็จะไม่มารบด้วย ก็เพราะว่าเราจะเปลี่ยนเป้าการโจมตีของข้าศึก ข้าศึกก็จะรีบไปป้องกันที่จุดนั้น

      ดังนั้นเราจะสามารถกำหนดรูปแบบของข้าศึกได้ แต่เราต้องไม่มีรูปแบบที่แน่นอน (ไร้กระบวนทัพ เพื่อไม่ให้ข้าศึกจับทางได้) เมื่อเราไม่มีรูปแบบที่แน่นอน เราจึงสามารถรวมกำลังของเรา แบ่งแยกกำลังข้าศึกได้ เราสามารถรวมกันเป็นหนึ่ง แต่ข้าศึกแตกแยกกันเป็นสิบ จึงเปรียบได้ว่าเราใช้หนึ่งโจมตีสิบ

      สถานการณ์นี้เราจะมีกำลังมากเข้าตีข้าศึกที่กำลังน้อยกว่าได้ ผู้ชำนาญการสงครามที่ใช้กำลังมากตีกำลังน้อยจะสามารถกำจัดฝ่ายข้าศึกได้

      เราจะรบกับข้าศึก โดยข้าศึกไม่สามารถล่วงรู้ได้ เมื่อไม่รู้ก็ต้องป้องกันไปเกือบทุกแห่ง ทำให้กองกำลังถูกแบ่งออกไป จำนวนพลที่ป้องกันก็จะยิ่งน้อย

      เช่นถ้าข้าศึกป้องกันด้านหน้า กำลังด้านหลังก็เบาบาง เมื่อป้องกันด้านหลัง กำลังด้านหน้าก็เบาบาง เมื่อป้องกันด้านซ้าย กำลังด้านขวาก็เบาบาง มาป้องกันทางขวา กำลังด้านซ้ายก็เบาบาง และเมื่อป้องกันทุกแห่ง กองกำลังแต่ละแห่งก็เบาบาง

      เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าศึกจะอ่อนแอเพราะทำการแบ่งกำลังป้องกันเกือบทุกที่ กองกำลังฝ่ายเราจึงมีกำลังเข้มแข็ง เพราะเราได้ทำการแบ่งกำลังข้าศึก

      ถ้าข้าศึกสามารถคาดเดาเหตุการณ์  เวลา และสถานที่ในการสู้รบได้ล่วงหน้า ถึงแม้ว่าจะอยู่ห่างไกลจากที่ทำการรบ ก็สามารถทำศึกได้

      ถ้าข้าศึกไม่สามารถคาดเดาเหตุการณ์ เวลา และสถานที่ที่จะสู้รบได้ล่วงหน้า เมื่อทำการแบ่งแยกกำลังข้าศึกแล้ว ด้านหน้าก็จะช่วยด้านหลังไม่ได้ ด้านหลังก็จะช่วยด้านหน้าไม่ได้ ปีกขวาก็จะช่วยปีกซ้ายไม่ได้ ปีกซ้ายก็จะช่วยปีกขวาไม่ได้ ยิ่งถ้าอยู่ห่างไกลกัน ข้าศึกจะทำการได้ทันหรือ? แล้วกองทัพที่มีขนาดใหญ่ก็จะมีประโยชน์อะไรล่ะ พูดได้ว่าชัยชนะนั้นเราสามารถสร้างมันขึ้นมาได้ แม้ว่ากองทัพข้าศึกมีกำลังมหาศาลเราก็สามารถทำให้ข้าศึกไม่อาจสู้รบต่อกรกับเราได้

      ดังนั้น เราจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ เพื่อให้รู้ถึงจุดอ่อนจุดแข็งในแผนการ

ต้องกวนข้าศึกให้ปั่นป่วน เพื่อหยั่งเชิงกองทัพข้าศึก

ต้องรู้กฎเกณฑ์ และรูปแบบของข้าศึก เพื่อทราบจุดเป็นจุดตาย

และ ต้องทำการสู้รบดูเพื่อหาจุดอ่อน และจุดแข็งของทั้งสองฝ่าย
     
      สิ่งสำคัญในการวางแผนจัดรูปกระบวนศึก อยู่ที่จะไม่กำหนดรูปร่างให้แน่ชัด เพื่อว่าข้าศึกที่อาจเป็นสายลับแอบแฝงในกองทัพไม่สามารถดูรูปกระบวนศึกออก หรือถึงแม้ว่าข้าศึกจะดูออก แต่ก็ไม่สามารถทำลายแผนนั้นได้

      และเมื่อแผนนี้ใช้สู้รบจนได้รับชัยชนะแล้ว ก็จะไม่ใช้ยุทธวิธีนั้นซ้ำอีก แต่จะวางแผนโดยดูสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไปโดยไม่รู้จักจบสิ้น กล่าวว่าในการทำสงครามจะไม่มีสภาวะใดคงที่





 

 บทที่ ๗ การดำเนินกลยุทธ

อันหลักการทำศึก ศิลปะในการดำเนินกลยุทธนั้นยากที่สุด คือต้องชิงความได้เปรียบ

       ความยากลำบากอยู่ที่ทำเรื่องยุ่งยากให้เป็นเรื่องง่าย ทำทางคดเคี้ยวให้เป็นทางตรง ทำโชคร้ายให้โชคดี แปรความเสียเปรียบต่าง ๆ ให้เป็นความได้เปรียบ

       หากแสร้งเดินทางอ้อม และใช้ผลประโยชน์เล็กน้อยเข้าล่อข้าศึกได้ ก็จะถึงที่หมายได้เร็วกว่าข้าศึก ทั้งที่ออกเดินทางทีหลัง นี้คือรู้จักแปรทางอ้อมให้เป็นทางตรง


       ในการดำเนินกลยุทธจึงมีทั้งข้อได้เปรียบ และข้อเสียเปรียบ กองทัพที่เคลื่อนทัพ เพื่อหาความได้เปรียบ จะไม่มีวันได้รับความได้เปรียบ ถ้ากองทัพทิ้งค่ายเพื่อจะหาความได้เปรียบ สัมภาระก็จะเกิดความเสียหายเนื่องจากต้องทิ้งสัมภาระต่าง ๆ ไว้ สิ่งที่ตามมาก็คือ กองทัพจะสูญเสียยุทโธปกรณ์หนัก เสบียงอาหาร ก็จะไม่มีไปด้วย กองทัพที่ไม่มีสัมภาระเหล่านี้ก็ไม่อาจอยู่รอดได้
     
ผู้ที่ไม่รู้จักสภาพภูมิประเทศ เช่น สภาพในเมือง สภาพป่าเขา หุบเหว ที่ลุ่มดอน ห้วยหนองคลองบึง จะไม่สามารถนำกองทัพให้เดินต่อไป เพราะจะเกิดอันตราย เกิดการสูญเสียได้

จงทำความรู้จัก และตีสนิทกับชนพื้นเมืองที่เดินทัพไปถึง และให้ชนพื้นเมืองเป็นคนนำทาง จะได้เปรียบในเรื่องสภาพภูมิประเทศ

การทำสงครามให้เกิดชัยชนะได้นั้น ก็ต้องอาศัยด้วยเล่ห์กลอุบาย คือให้พิจารณาถึงกองทัพว่าขณะนั้นมีความได้เปรียบหรือไม่ แล้วจึงค่อยกระทำการเปลี่ยนแปลง

ยุทธวิธีการรบด้วยการกระจายทัพ หรือรวมกำลังพล ต้องคิดให้รอบคอบ คิดถึงผลได้ผลเสียให้ถ่องแท้เสียก่อน แล้วค่อยปฏิบัติการ

ในการเดินทัพจะต้องรวดเร็วดุจลมพัด

สามารถหยุดทัพได้สงบนิ่งเหมือนไม้ในพงไพร

เวลาเข้าตี ต้องฮือโหมดุจไฟลาม

คราวตั้งรับ ต้องมั่นคงดุจดั่งขุนเขา

ถ้าหลบซ่อนต้องกำบังกายได้ดั่งเมฆบังพระจันทร์

และเผด็จศึกได้ไวดั่งสายฟ้าฟาด
     
เมื่อทำการยึดเมืองได้สำเร็จ ควรแบ่งสินสงคราม ปูนบำเหน็จให้แก่ทหารหาญทั้งหลาย เมื่อยึดขยายดินแดนต้องแบ่งปันให้แก่แม่ทัพนายกอง นี่คือหลักการดำเนินกลยุทธ

การสื่อสารกันเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการทำศึกสงครามการติดต่อกันระหว่างภายในกองทัพ กับกำลังทหารที่ปฏิบัติการ หรือการสื่อสารกันเองต้องแน่นอนชัดเจน มีสัญลักษณ์ ภาษาต่าง ๆ เป็นที่ทราบกันภายในกองทัพที่ทำการรบ ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อทหารทั้งกองทัพเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว ทำอะไรก็จะช่วยกัน

ในการที่จะทำลายข้าศึก ขวัญและกำลังใจของข้าศึกเป็นสิ่งแรกที่ต้องคำนึง และต้องสั่นคลอนการตัดสินใจของแม่ทัพฝ่ายข้าศึก

กองทัพข้าศึกเมื่อแรกรบนั้น จะมีขวัญกำลังใจดีเยี่ยม แต่พอผ่านไประยะเวลาหนึ่งขวัญ และกำลังใจก็จะเริ่มย่อหย่อน ถดถอยลงเรื่อย ๆ และสุดท้ายก็จะไม่มีขวัญสู้รบเหลืออยู่

ผู้ที่ชำนาญการสงคราม ต้องหลีกเลี่ยงข้าศึกตอนที่มีขวัญ และกำลังใจดี ให้รอจนกว่าขวัญของข้าศึกจะตกต่ำ และหมดไป จึงทำการเข้าตี นี้คือยุทธวิธีควบคุมขวัญทหาร

เราจะใช้ทหารที่มีระเบียบวินัยโจมตีข้าศึกที่แตกแยกสับสนอลหม่าน

เราจะใช้ทหารที่สุขุมเยือกเย็นไปโจมตีข้าศึกที่บุ่มบ่ามวู่วาม

เราจะใช้สมรภูมิใกล้ รับมือข้าศึกที่เดินทางมาไกล 

เราจะใช้ทหารที่พักผ่อนอย่างเต็มที่ ไปรับมือกับทหารที่เหนื่อยล้าอิดโรย

เราจะใช้ทหารที่กินอิ่ม ไปโจมตีทหารที่กำลังหิวโหย
 
เราจะไม่เข้าตีข้าศึกที่ตั้งขบวนทัพ และปักธงทิว ไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย

เราจะไม่โจมตีข้าศึกที่ตั้งค่ายอย่างแน่นหนาดูแล้วน่าเกรงขาม

      หลักการเข้ารบคือ

เราจะไม่โจมตีข้าศึกที่อยู่บนที่สูงกว่า
 
เราจะไม่โจมตีข้าศึกที่หันหลังอิงเนินเขา

เราจะไม่ไล่ตามตีข้าศึกที่แกล้งทำเป็นแพ้ล่าถอย

เราจะไม่โจมตีกำลังที่เข้มแข็งของข้าศึก

เราจะไม่ใส่ใจกองกำลังที่ข้าศึกออกมายั่ว

เราจะไม่สกัดข้าศึกที่กำลังถอนกลับประเทศของตน

การล้อมข้าศึกต้องเปิดช่องว่างไว้ ถ้าข้าศึกถึงคราวจนตรอก อย่ารุกบีบกระชั้นจนเกินไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น