วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2561

หลักกลยุทธ์ซุนวู 1+2


เกริ่นนำกันก่อน

กลยุทธในทางสงครามที่ดีที่สุด คือการเอาชนะข้าศึกได้โดยไม่ต้องสู้รบ ยึดเมืองได้โดยไม่ต้องใช้กองกำลังเข้าตี และสามารถทำให้ข้าศึกแพ้ได้โดยไม่ต้องรบยืดเยื้อ


แนะนำเพื่อให้อ่านได้ต่อเนื่องให้ คลิกขวาเลือก Open link in new window

      ซุนวู (孫武: Sūn Wǔ) มีชีวิตระหว่าง ๒๔๐๐-๕๐๐ ปีก่อนพุทธกาล ก่อนยุคสมัยสามก๊กจะเริ่มขึ้น เขาได้เป็นนักการทหาร และเป็นนักปกครอง ในสมัยชุนชิว ซุนวูพื้นเพเป็นคนประเทศฉี (เป็นส่วนหนึ่งของจีนในสมัยนั้น) เขาได้รับสมญานามว่าเป็นมังกรอีกผู้หนึ่งในสมัยนั้น

      เป็นผู้คิดค้นกลยุทธในทางสงคราม ที่เรียกว่า คัมภีร์ (ตำรา) พิชัยสงครามซุนวู (Art of war: Sun-Tzu) เป็นที่กล่าวขานกัน และใช้ประโยชน์กันอย่างมาก ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเป็นที่นำไปใช้กันมากในทางสงคราม อีกทั้งรวมไปถึงการนำมาปรับใช้ในการดำรงชีวิตไม่ว่าจะเป็นทางธุรกิจ, การบริหาร, การปกครอง, ทางทหาร ฯลฯ



กลยุทธในทางสงครามถ้าพิจารณาดี ๆ แล้ว ตำราพิชัยสงครามของซุนวูนี้ สามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้ เมื่อศึกษากันอย่างละเอียดลึกซึ้งแล้ว สามารถนำความรู้นั้นมาใช้เป็นประโยชน์กับตัวเอง และผู้อื่นได้อีกด้วย

ตำราของซุนวูนั้นมีทั้งหมด ๑๓ บท ดังนี้

      บทที่ ๑  การวางแผน

      บทที่ ๒ การทำสงคราม

      บทที่ ๓ กลยุทธเชิงรุก

      บทที่ ๔ ลักษณะการยุทธ

      บทที่ ๕ อานุภาพของกลยุทธ

      บทที่ ๖ การรู้ตื้นลึกหนาบาง

      บทที่ ๗ การดำเนินกลยุทธ

      บทที่ ๘ ความผันแปร ๙ ประการ

      บทที่ ๙ การเดินทัพ

      บทที่ ๑๐ ลักษณะภูมิประเทศ

      บทที่ ๑๑ พื้นที่ ๙ ลักษณะ

      บทที่ ๑๒ โจมตีด้วยไฟ

      บทที่ ๑๓ การใช้สายลับ






      อนึ่ง ความรู้ไม่ว่าแขนงใด ๆ เมื่อศึกษาจนแตกฉานแล้ว จะมีคุณอนันต์ แล้วก็มีโทษมหันต์ เป็นดาบสองคม คนมีความรู้ถ้านำไปใช้ในทางที่ผิดความเสียหายจะเกิดอย่างใหญ่หลวงมากกว่าคนที่ไม่มีความรู้ จึงขอวิงวอนอย่านำความรู้ไปใช้ในทางที่ผิด และให้ทดแทนคุณต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติ  





บทที่ ๑ การวางแผน

รู้เขารู้เรารบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง รู้เราแต่ไม่รู้เขาหรือรู้เขาแต่ไม่รู้เรารบแพ้บ้างชนะบ้าง ไม่รู้เขาและไม่รู้เรารบร้อยครั้งแพ้ร้อยครั้ง


      การทำสงคราม (สามารถนำไปปรับใช้ได้กับการทำงาน การดำเนินธุรกิจ) เป็นเรื่องใหญ่ของประเทศซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตของทหาร และประชาชน ซึ่งเป็นทั้งทางแห่งการดำรงอยู่ หรือความล่มสลายของประเทศชาติ ซึ่งผู้ปกครองประเทศต้องคิดให้ดีก่อนตัดสินใจ

      เมื่อตัดสินใจทำสงครามแล้ว จะต้องคำนึงถึงหลักพื้นฐาน ๕ ประการเป็นอันดับแรก ใช้ในการเปรียบสภาพของเราเทียบกับของข้าศึก เพื่อคาดการณ์ผลแพ้ชนะของสงคราม หลักพื้นฐาน ๕ ประการนั้น ได้แก่


๑.๑ รวมใจเป็นหนึ่งเดียว
     
      หมายความว่า เจตนารมณ์ของฝ่ายประชาชน (ผู้ถูกปกครอง, ผู้ใต้บังคับบัญชา) กับฝ่ายผู้ปกครองประเทศ (ผู้นำ, ผู้บังคับบัญชา) ต้องไปในทิศทางเดียวกัน และประชาชนยินดีร่วมเป็นร่วมตายกันไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

      การที่ผู้ปกครองประเทศจะทำอย่างนี้ได้ คุณธรรม และความจริงใจเป็นสิ่งสำคัญ จะปกครองคนต้องปกครองเขาที่ใจ ไม่ใช่วิธีการบังคับ หรือทำให้ลุ่มหลง แล้วประชาชนจะอยู่เคียงข้างผู้ปกครองเอง


๑.๒ ศึกษาสภาพภูมิอากาศ

      ความหมายก็คือ ให้ดูว่าจะทำการรบเป็นเวลาอะไร? กลางวัน หรือกลางคืน, ฤดูกาลอะไร? ฤดูหนาว ฤดูร้อน หรือฤดูฝน, ความผันแปรของสภาพอากาศ เช่น ฝนตก น้ำท่วม ไฟไหม้ พายุ ฯลฯ


๑.๓ ศึกษาสภาพภูมิประเทศ

      หมายถึงสภาพแวดล้อมบริเวณที่ ที่จะทำสงครามว่าเป็นพื้นที่ราบ หรือพื้นที่ลุ่ม อยู่ใกล้หรืออยู่ไกล เป็นพื้นที่อันตราย หรือเป็นพื้นที่เข้าออกสะดวก เป็นพื้นที่กว้างใหญ่ หรือพื้นที่คับแคบ เป็นพื้นที่เปิดหรือพื้นที่ปิด


๑.๔ ผู้นำทัพ

      หมายถึงผู้นำที่มีสติปัญญา ศึกษาการศึกอย่างละเอียด รู้จักพลิกแพลงกลยุทธ์ มีสัจจะ รักษาคำพูด มีความเมตตากรุณาต่อผู้ใต้บังคับบัญชา และผู้อื่น มีความกล้าหาญ มีคุณธรรม เคร่งครัดในระเบียบวินัย และเที่ยงธรรม


๑.๕ กฎ

      หมายถึง กฎข้อบังคับ, ระบบ, ระเบียบวินัยของกองทัพ, ระบบการจัดอัตรากำลังพล และระบบการจัดสรรอาวุธยุทโธปกรณ์
 
      ปัญหาทั้ง ๕ ประการนี้ผู้นำต้องศึกษาทำความเข้าใจให้รู้แจ้งจึงมีชัยชนะ ผู้ไม่ศึกษาย่อมเป็นฝ่ายปราชัย

      เมื่อทำการศึกษาอย่างถ่องแท้แล้ว ก็ลองทำการเปรียบเทียบสภาพของเรา กับข้าศึกดู เพื่อคาดคะเนผลแพ้ / ชนะ ที่จะเกิดขึ้นในการทำสงคราม ซึ่งได้แก่

·        ผู้นำฝ่ายใดปกครองอย่างเป็นธรรม

·        แม่ทัพฝ่ายใดมีความสามารถมากกว่ากัน

·        สภาพภูมิอากาศได้เอื้อประโยชน์ให้แก่ฝ่ายใด

·        ฝ่ายใดมีความเคร่งครัดในระเบียบวินัย

·        กองกำลังฝ่ายไหนเข้มแข็งกว่ากัน

·        กำลังพลฝ่ายไหนได้ผ่านการถูกฝึกมาอย่างดี

·        ฝ่ายใดมีการลงโทษผู้กระทำความผิด และให้รางวัลแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ อย่างเคร่งครัดเที่ยงธรรม

      เมื่อทำการพิจารณาเปรียบเทียบกันแล้ว ก็พอจะทราบเป็นเบื้องต้นได้ว่า กองกำลังฝ่ายไหนจักมีชัย หรือปราชัยในการทำศึกสงคราม

      ถ้าหากว่าแม่ทัพได้ทำการวางแผนบนพื้นฐานที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วย่อมจะชนะในการศึกสงครามที่เกิดขึ้น ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะให้รางวัลแก่แม่ทัพผู้นั้น

      หากว่าแม่ทัพไม่ได้ทำตามข้อที่กล่าวมาข้างต้นแล้วก็ย่อมจะพ่ายแพ้ในสงครามนั้น ก็สมควรที่จะต้องลงโทษตามความหนักเบาของความผิด หรือก็จงปลดออกจากแม่ทัพเสีย

      เมื่อทำการวางแผนที่ยอดเยี่ยมแล้วเพื่อไม่ประมาท ในขั้นต่อไปก็จงสร้างสภาวการณ์, สถานการณ์ หรือกุศโลบายหนึ่ง ๆ เพื่อเป็นปัจจัยสนับสนุนแผนที่ได้วางเอาไว้

      การสร้างสภาวการณ์นั้น จะต้องเป็นฝ่ายกระทำเขาไม่ใช่เป็นฝ่ายที่ถูกกระทำ ในการพลิกแพลงต้องคำนึงถึงความได้เปรียบเป็นหลัก


สภาวการณ์ที่พึงสร้างขึ้นเพื่อความได้เปรียบในการสงคราม

·        เรามีความสามารถ ก็แสดงให้เห็นว่า เราไร้ความสามารถ

·        จะทำสงคราม ก็แสดงให้เห็นว่า จะไม่ทำสงคราม

·        จะตีใกล้ แสดงให้เห็นว่า จะตีไกล

·        จะตีไกล แสดงให้เห็นว่า จะตีใกล้

·        ถ้าข้าศึกมีความโลภ ก็ให้หลอกล่อด้วยผลประโยชน์

·        ถ้าภายในของกองกำลังข้าศึกมีความปั่นป่วน ก็ทำการรบขั้นแตกหัก

·        ถ้าข้าศึกมีกำลังมาก ให้เตรียมพร้อมเสมอ

·        ถ้าข้าศึกมีความแข็งแกร่ง ก็ให้พึงหลีกเลี่ยง

·        ถ้าข้าศึกฮึกเหิม ให้ทำการบั่นทอนขวัญกำลังใจของข้าศึก

·        ถ้าข้าศึกมีความสุขุมเยือกเย็น จงยั่วให้ข้าศึกขาดสติ

·        ถ้าข้าศึกสุขสบาย ก็ทำการรังควาญข้าศึกให้อ่อนเปลี้ยเพลียแรง

·        ถ้าข้าศึกมีความสามัคคี ก็ทำการยุแยงให้แตกแยก

·        พึงทำการโจมตีข้าศึกในขณะที่ข้าศึกไม่ได้เตรียมพร้อม จู่โจมในขณะที่ข้าศึกไม่คาดคิด

      นี้คือการสร้างสภาวการณ์ที่ตนเองเป็นฝ่ายกระทำ เพื่อตอกย้ำชัยชนะในแผนที่ได้วางเอาไว้ นักวางแผนที่ดีจะต้องรู้จักพลิกแพลงให้เป็นไปตามสภาวการณ์ที่ได้พบเจอ ก็จะทำให้หนทางไม่อับจน

      หากชนะก่อนที่จะทำการรบ แสดงว่าได้วางแผนมาอย่างละเอียดรอบคอบดีแล้ว ชัยชนะย่อมเป็นของผู้วางแผนที่ดี หากไม่ชนะ (ติดขัดในการวางแผน) ก่อนที่จะรบ แสดงว่าไม่ได้ทำการวางแผนมาอย่างละเอียดรอบคอบเท่าที่ควร ความพ่ายแพ้ปราชัยก็จะถามหา ดังนั้นจะมีเหตุผลอะไรอีกล่ะ? ที่เราจะไม่กล่าวถึงการวางแผนการรบ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น